กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ติดตามสถานการณ์การปลูกข้าวนาปรัง ปี 58 ในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง 4 จังหวัด พบ เกษตรกรปรับลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลงเฉลี่ยร้อยละ 60 ตามประกาศให้งดทำนาปรังของกระทรวงเกษตรฯ และหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทน
นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 (สศก.4) ขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การปลูกข้าวนาปรัง ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ จากปัญหาน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อย ซึ่งกรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อนและประกาศงดทำนาปรัง โดยให้สำรองน้ำไว้ให้เพียงพอถึงต้นฤดูฝน ปี 2558
จากการติดตามสถานการณ์ พบว่า เกษตรกรมีการลดปลูกข้าวนาปรังเฉลี่ยร้อยละ 60 ซึ่งเกษตรกรที่ยังปลูกข้าวนาปรังส่วนใหญ่ขณะนี้ ข้าวอยู่ในระยะเจริญเติบโต โดยจังหวัดที่มีเนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังลดลงมากที่สุดคือจังหวัดมหาสารคาม ลดลงถึงร้อยละ 94 จากเนื้อที่ปลูกปีที่แล้ว 190,322 ไร่ และคาดว่าปีนี้จะมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 12,000 ไร่ จังหวัดขอนแก่นปลูกข้าวนาปรังลดลงร้อยละ 85 จากเนื้อที่ปลูกปีที่แล้วประมาณ 235,798 ไร่ คาดว่าจะมีเนื้อที่ปลูกในปีนี้ประมาณ 35,000ไร่ จังหวัดร้อยเอ็ดปลูกข้าวนาปรังลดลงร้อยละ 47 จากเนื้อที่ปลูกปีที่แล้วประมาณ 247,369 ไร่ โดยคาดว่าจะมีเนื้อที่ปลูกในปีนี้ประมาณ 130,000ไร่
สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่รับน้ำจากเขื่อนลำปาว มีเนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังลดลงน้อยที่สุดคือลดลงเพียงร้อยละ 25 จากพื้นที่ปลูกปีที่แล้วประมาณ 278,880 ไร่ และคาดว่าปีนี้จะมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 210,000 ไร่ เนื่องจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวมีเพียงพอต่อการทำนาปรังไม่ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปรังมากนักอย่างไรก็ตาม นับว่าได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางในการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง โดยเกษตรกรมีการหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนบางส่วน ทั้งนี้ ในส่วนของการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน เกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น โทร. 043 261 513 ในวันและเวลาราชการ