สำรวจความคิดเห็นต่อการยึดมั่นคำสั่งสอนการเผยแผ่ทางพระพุทธศาสนาของชาวพุทธ

ข่าวทั่วไป Tuesday March 3, 2015 18:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, อาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลเร่งสำรวจเกี่ยวกับแรงศัทธาต่อศาสนา สรุปผลสำรวจในระหว่างที่มีคดีความอื้อฉาวเกี่ยวกับวงการพระสงฆ์ไทยอีกครั้งหนึ่ง จากกรณีข่าวคราวต่าง ๆ ที่พาให้พุทธศาสนิกชนต่างพากันหวาดหวั่นและกังวลใจ พร้อมด้วยสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะสังคมเมือง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จากเดิมที่วิถีชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับวัดจึงมีความใกล้ชิดกับหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา แต่ในปัจจุบัน ความเร่งรีบในการดำเนินชีวิตและการแข่งขันที่มีมากขึ้นจึงทำให้คนไทยเริ่มมีความห่างเหินไปจากวัดและหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามากขึ้น ขณะเดียวกันมีวัดอยู่จำนวนหนึ่งที่มีการเน้นการจัดกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์กันมากขึ้นโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพุทธศาสนาเท่าที่ควร ประกอบกับในปัจจุบันยังมีบุคคลบางกลุ่มที่อาศัยพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนที่บิดเบือนไปจากความถูกต้อง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมว่ากำลังมีส่วนทำให้พุทธศาสนิกชนห่างเหินไปจากพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม พ.ศ. 2558 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,137 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.92 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.08 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 30.61 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 34.65 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชน ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และนักเรียน/นักศึกษา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31.13 ร้อยละ 24.19 และร้อยละ 20.93 ตามลำดับ ด้านความรู้สึกต่อหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.8 ระบุว่าในปัจจุบันยังคงไม่รู้สึกว่าตนเองมีความห่างเหินจากพระพุทธศาสนาไปมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.14 ยอมรับว่าตนเองรู้สึกว่ามีความห่างเหินมากขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.06 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าในปัจจุบันตนเองยึดมั่นหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตบ้างเป็นบางโอกาสซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.65 ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 26.65 ระบุว่าตนเองยึดมั่นเป็นหลัก โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 19.7 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้ยึดมั่นคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 43.62 ยอมรับว่าตนเองเข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาอยู่ในระดับน้อย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.97 มีความเข้าใจอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.04 ระบุว่าตนเองมีความเข้าใจอยู่ในระดับมาก และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.37 ยอมรับว่าตนเองไม่เข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาเลย แต่อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 54.88 ที่มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันมีผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยบิดเบือนหลักธรรมคำสั่งสอนที่ถูกต้องมากขึ้นกว่าสมัยก่อน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.44 ระบุว่าข่าวสารเชิงลบต่าง ๆ เกี่ยวกับวงการพระพุทธศาสนาไม่ได้ส่งผลให้ตนเองยึดมั่นหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาน้อยลง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.39 ระบุว่าข่าวสารเชิงลบต่างๆ เกี่ยวกับวงการพระพุทธศาสนาไม่ได้ส่งผลให้ตนเองเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา ด้านความคิดเห็นต่อการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.93 มีความคิดเห็นว่าการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาผ่านสื่อสาธารณะ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เป็นประจำทุกวันจะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องมากขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.89 มีความคิดเห็นว่าการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาในสื่อสาธารณะ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เป็นประจำทุกวันจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการบิดเบือนคำสอนทางพระพุทธศาสนาของคนบางกลุ่มได้ และกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.73 มีความคิดเห็นว่าการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาผ่านช่องทางออนไลน์จะช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาแบบตัวหนังสือกับแบบภาพและเสียง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.85 มีความคิดเห็นว่าการเผยแผ่แบบผสมทั้งภาพและเสียงกับตัวหนังสือจะทำให้ผู้คนเข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาได้มากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.57 มีความคิดเห็นว่าแบบภาพและเสียงจะทำให้ผู้คนเข้าใจได้มากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.58 มีความคิดเห็นว่าแบบตัวหนังสือทำให้เข้าใจได้มากกว่า ในด้านความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของวัดต่างๆ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 43.8 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันยังคงมีวัดที่เน้นการจัดกิจกรรมการเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา เช่น การจัดทำหนังสือธรรมะ การให้พระสงฆ์ไปเทศตามสถานศึกษา/สถานประกอบการต่างๆ เป็นต้นโดยไม่มีการจัดกิจกรรมเชิง “พุทธพาณิชย์” เช่น การขอรับบริจาคเพื่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ การเปิดให้เช่าพระพุทธรูปรุ่นต่างๆ การให้พระสงฆ์เดินตามท้องถนนเพื่อให้ประชาชนร่วมทำบุญ เป็นต้น อยู่เป็นส่วนน้อย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.43 มีความคิดเห็นว่ามีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงไม่ถึงหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 17.06 ที่คิดว่ามีเป็นส่วนใหญ่ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.71 ที่คิดว่าไม่มีเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.23 มีความคิดเห็นว่าการจัดกิจกรรมเชิง “พุทธพาณิชย์” ของวัดต่างๆ เช่น การขอรับบริจาคเพื่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ การเปิดให้เช่าพระพุทธรูปรุ่นต่างๆ การให้พระสงฆ์เดินตามท้องถนนเพื่อให้ประชาชนร่วมทำบุญ เป็นต้น จะไม่ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ