สคร.7 เผย กิน“ปลาร้าดิบ”นอกจากเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีแล้วยังเสี่ยงโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ข่าวทั่วไป Thursday March 5, 2015 13:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สคร.7 เผย กิน“ปลาร้าดิบ”นอกจากเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีแล้ว ยังเสี่ยงป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือโรคเหน็บชา ในกลุ่มนักโทษเกือบร้อยราย คาดเกิดจากกินแต่ข้าวขาว หรือปลาร้าดิบบ่อยเกินไป ชี้เป็นอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) เปิดเผยว่า การรับประทานอาหารประเภทปลาน้ำจืดปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีตัวอ่อนของพยาธิปนเปื้อน เช่น ปลาร้า ก้อยปลา ปลาหมกไฟ ฯลฯ เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วยด้วยโรคพยาธิใบไม้ตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดีเสียชีวิตเป็นจำนวนมากต่อปี ล่าสุดในการประชุม DDC Forum ของกรมควบคุมโรค เรื่อง"โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการขาดวิตามินบี1" พบรายงานผู้ป่วยอาการแขนขาอ่อนแรง ชาตามปลายมือ ปลายเท้า และชาตามร่างกาย 78 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย วินิจฉัยพบว่า เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในเรือนจำแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการขาดวิตามินบี 1 หรือภาวะเป็นโรคเหน็บชา โดยเกิดอาการหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่นับเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญมากในการทำให้ผู้ที่มีภาวะ ปริ่มๆ ขาดวิตามินบี 1 กลายเป็นการขาดวิตามินบี 1 จนแสดงอาการออกมา นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุม DDC Forum ว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการขาดวิตามินบี 1 หรือภาวะเป็นโรคเหน็บชา ส่วนใหญ่มักมีอาการอ่อนแรงและชา ที่แขนและขา ปลายมือ ปลายเท้า บวม แดง ส่วนการขาดวิตามินบี 1 เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินไม่เพียงพอ เช่น การรับประทานแต่ข้าวขาวที่ผ่านการขัดสี หรืออาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 ได้แก่ ปลาน้ำจืดดิบ หอยลายดิบ ปลาร้า ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาส้มดิบ แหนมดิบ เป็นต้น กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ดื่มสุราประจำ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์/ให้นมบุตร เด็กวัยเจริญเติบโต ผู้ที่รับประทานอาหารที่ไม่มีวิตามินบี 1 ผู้ต้องขังในเรือนจำ และชาวประมงที่ออกทะเลนานๆ “ในการป้องกันโรคประชาชนควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และหลากหลาย ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองและถั่วเมล็ดแห้ง รวมทั้งผักใบเขียว ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีตัวทำลายวิตาบินบี 1 หากต้องการรับประทานควรปรุงด้วยความร้อนจนสุก ส่วนในโรงเรียน เรือนจำ สถานกักกัน และสถานรับเลี้ยงเด็ก คนชรา ควรจัดหาข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือให้รับประทาน ปรับรายการอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย สด ใหม่หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นายแพทย์โสภณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ