กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สปช.อุบลฯ
สมาชิกสภาปฏิรูปฯอุบลราชธานี ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนเพื่อการปฏิรูปที่อ.เขื่องใน พบประชาชนต้องการให้เร่งปราบปรามปัญหายาเสพย์ติด แนะเริ่มต้นที่เจ้าหน้าที่ก่อน , ปัญหาเด็กติดเกมส์ ปัญหาพนันบั้งไฟ
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราขธานี สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจ.อุบลราชธานี (สปช.อุบลราชธานี) ลงพื้นที่จัดเวทีต่างอำเภอเป็นครั้งที่สี่ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน ผลการประชุมพบว่าชาวอำเภอเขื่องในมีความสนใจในประเด็นปฏิรูปการเมืองมากที่สุด ตามมาด้วยประเด็นด้านการปกครองท้องถิ่น , การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และปฏิรูปทางสังคม ชุมชน เด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ตามลำดับ
ส่วนวิธีแก้ปัญหาคอรัปชั่นส่วนใหญ่ต้องการให้มีบทลงโทษคนกระทำความผิดให้มากขึ้น , ปลูกฝังจิตสำนึกให้มีคุณธรรมจริยธรรม และมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุจริตและการคอรัปชั่นโดยเฉพาะ ทางด้านแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำความเห็นส่วนใหญ่เห็นว่าแก้ได้โดยการสร้างโอกาสในการศึกษาอย่างเท่าเทียม , กระจายงบประมาณไปยังกลุ่มด้อยโอกาสให้พัฒนาอย่างทั่วถึง และมีการเสียภาษีตามรายได้ที่แท้จริง
ส่วนวิธีการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงชาวเขื่องในเห็นว่าต้องปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม จิตใต้สำนึกแก่ผู้ลงสมัครและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง , ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบควบคุมก่อนการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด , ให้ความรู้ในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ประชาชน และมีบทลงโทษผู้ซื้อสิทธิ์ขายเสียงคือตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต
ชาวอำเภอเขื่องในมีความฝันอยากเห็นอำเภอตนเองในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นเมืองเกษตรปลอดสารพิษ เมืองวัฒนธรรม ส่วนระดับจังหวัดอีก 20 ปีข้างหน้า อยากเห็นอุบลราชธานีเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นักการเมืองและประชาชนมีความสามัคคีกัน
ด้านปัญหาในพื้นที่ที่ต้องเร่งแก้ไขคือยาเสพย์ติด ชี้เจ้าหน้าที่ร่วมขายจึงทำให้ปราบปรามไม่หมดสักที การจะปราบปรามให้ได้ผลจึงต้องเริ่มต้นที่เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายก่อน ข้อมูลนี้คนขายมาเล่าให้ฟัง จับแล้วก็วนเวียนมาขายอีกจึงปราบไม่หมดสักที เป็นห่วงลูกหลานเป็นทาสยา นอกจากนั้นก็มีปัญหาเด็กติดเกมส์ , เล่นการพนันในงานบุญบั้งไฟ วัยรุ่นตีกันในงานต่าง ๆ ทางออกคือให้มีการอบรมเข้าค่ายศีลธรรมให้มาก อีกปัญหาคือการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เช่น ต.สร้างถ่อ คนต่างพื้นที่มาใช้สารเคมีมาก เกรงมีปัญหาไปถึงน้ำใต้ดิน น้ำดื่มน้ำใช้ในอนาคต นอกจากนั้นก็มีปัญหาแหล่งน้ำเกษตรกรปลูกพืชผักสวนครัวแหล่งน้ำไม่พอ ต้องการให้ช่วยทำฝายกั้นน้ำเป็นช่วง ๆ
สมาชิกสภาปฏิรูปจังหวัดอุบลราชธานีได้วางแผนในการลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนทั้ง 25 อำเภอ โดยกำหนดเวทีระดับอำเภอระยะแรก 10 อำเภอ เวทีระดับจังหวัด 1 ครั้ง ครั้งต่อไปจะเป็นเวทีระดับอำเภอที่อำเภอวารินชำราบ ในวันที่ 5 มีนาคม 2558 ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางเวปไซต์ www.เสียงประชาชนอุบลราชธานี.com หรือหมายเลขโทรศัพท์ประจำศูนย์ประสานงานสปช.อุบลฯ 091 470 5921
อนึ่งการจัดเวทีครั้งนี้คณะกรรมาธิกาวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสภาปฏิรูปแห่งขาติ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประจำจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ทางสมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่นอุบลราชธานีได้มาถ่ายทอดเสียงออกอากาศสดโดยสถานีวิทยุ 30 สถานีอีกด้วย