กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กสอ.ชี้พ่อแม่รุ่นใหม่นิยมสินค้าคุณภาพ แนะอุตสาหกรรมสำหรับเด็กเร่งชูจุดขายมาตรฐานสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 10-30%
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมเผย“ค่านิยมอุตสาหกรรม”กลยุทธ์สร้างความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมไทย สอดรับค่านิยม 12 ประการตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในภาคการผลิต เพื่อเป็นฐานการผลิตสินค้าต่างๆทั่วโลกโดยค่านิยมดังกล่าวจะสะท้อนจากคุณภาพการผลิต คุณภาพพนักงาน คุณภาพโรงงาน และคุณภาพสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันพบว่า สินค้าและภาคการผลิตไทย ได้รับความนิยมจากบริษัทต่างชาติรวมถึงอุตสาหกรรมประเภทรับจ้างผลิตหรือ OEMที่มีกว่า 50,000 โรงงานทั้งนี้ กสอ. มีโครงการที่สอดแทรกการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพและธรรมาภิบาลในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 50 โครงการ อาทิ โครงการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ SMEsด้วยระบบ LEAN โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) โครงการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการ การตลาด และการบริการ (CF) โครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการพลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (TEM) โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) โดยผู้เข้าร่วมโครงการต่างๆ นั้นจะได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตการลดต้นทุนการผลิต ฯลฯ ที่สอดแทรกหลักธรรมาภิบาลในภาคอุตสาหกรรม อันจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตและมีโอกาสทางการตลาดในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้จากมาตรฐานที่เหนือกว่า คือ อุตสาหกรรมสำหรับเด็กที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการมีมาตรฐานที่สูงกว่าถึงร้อยละ10-30นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบต้องใช้มาตรฐานในระดับสูงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างจุดขายให้แก่สินค้าตนเอง อาทิ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ ฯลฯ
นายมาณพ ชิวธนาสุนทร รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากหลักค่านิยม 12 ประการตามที่รัฐบาลกำหนดเพื่อต้องการส่งเสริมให้คนไทยเป็นคนดีได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีในส่วนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก็เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องแข่งขันกับนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนในการที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในภาคการผลิต เพื่อเป็นฐานการผลิตสินค้าต่างๆ โดยสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ต่างชาติมั่นใจประเทศไทยคือ“ค่านิยมอุตสาหกรรม” ได้แก่ ค่านิยม“คุณภาพ” และค่านิยม“คุณธรรม” เกี่ยวโยงตั้งแต่ระดับพนักงาน ระดับหัวหน้า จนถึงระดับผู้บริหาร ซึ่งสะท้อนได้จาก คุณภาพการผลิต คุณภาพ พนักงาน คุณภาพโรงงาน และคุณภาพสินค้าและบริการโดยปัจจุบันพบว่า สินค้าและภาคการผลิตไทยได้รับความนิยมจากบริษัทต่างชาติในการจ้างผลิตเนื่องด้วยความมั่นใจในคุณภาพและความเชื่อใจใน “คนไทย”เห็นได้จากตราสินค้า “Made in Thailand” นั้นได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงอุตสาหกรรมประเภทรับจ้างผลิตหรือ OEM ที่ปัจจุบันโรงงานรับจ้างผลิต(OEM) ในประเทศไทย มีทั้งสิ้นกว่า 50,000 โรงงานที่รับจ้างผลิต โดยมากกว่าร้อยละ 70-80 เป็นกลุ่มสิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องจักรกลการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น(ที่มาข้อมูล : www.ThaiOEM.com)
นายมาณพ กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้สามารถพัฒนารูปแบบการผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล ผ่านการส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพอย่างครบวงจร ผ่านโครงการต่างๆกว่า 50 โครงการอาทิ โครงการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ SMEsด้วยระบบ LEANโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) โครงการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการ การตลาด และการบริการ (CF) โครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการพลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (TEM) โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) โดยผู้เข้าร่วมโครงการต่างๆ นั้นจะได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เช่น การลดต้นทุนการผลิต ลดของเสีย ลดเวลาการผลิต ลดการใช้พลังงาน มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอยู่เสมอ ตลอดจนการแนะนำการวางแผนระบบบัญชีที่ได้มาตรฐาน การจัดการการเงินที่มีคุณภาพรวมถึงผู้ประกอบการได้เรียนรู้ หลักสูตรที่สอดแทรกหลักธรรมาภิบาลในอุตสาหกรรม อาทิ 1.หลักการมีส่วนร่วมที่จะช่วยให้ผู้ประกอบจากต่างธุรกิจได้มีการทำกิจกรรมร่วมกันอีกทั้งสามารถขยายโอกาสทางการค้าและเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจให้ก้าวไกลต่อยอดสู่การรวมกลุ่มธุรกิจ (Cluster) 2. หลักความคุ้มค่าซึ่งสอดแทรกเนื้อหาผ่านโครงการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ SMEs ด้วยระบบ LEAN ที่จะสอนให้ผู้ประกอบการลดความสูญเปล่าให้เกิดขึ้นในกิจการ ทั้งนี้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการของกสอ.จะต้องได้รับการพัฒนาจนสามารถได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อย่างน้อยหนึ่งมาตรฐาน เช่น ISO , HACCP, GMP, มอก., มรท.,BCM เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับผลการดำเนินงานในปี 2557 ที่ผ่านมา มีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจนสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นจำนวน 549 กิจการ หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.52 คิดเป็นมูลค่า 1.51 พันล้านบาท
นายมาณพ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตและมีโอกาสทางการตลาดในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้จากมาตรฐานที่เหนือกว่า คือ อุตสาหกรรมสำหรับเด็ก เนื่องจากปัจจุบันพ่อแม่ให้ความสำคัญต่อการเลี้ยงดูบุตร แม้ว่าอัตราการเกิดใหม่ของเด็กจะคงที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปทำให้พ่อแม่ยอมซื้อสินค้าคุณภาพในกลุ่มอุปกรณ์สำหรับการเลี้ยงเด็กเพิ่มมากขึ้น แม้อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเด็กในกลุ่มออร์แกนิก หรือ กลุ่มที่ผ่านการวิจัยแล้วว่าไร้สารเคมีแม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าปกติกว่าร้อยละ10-30 โดยเฉพาะรถเข็นเด็ก เบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็ก หมอนรองคอสำหรับเด็ก อุปกรณ์กันแดด โดยในแต่ละปีสินค้ากลุ่มเด็กมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินค้ากลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-3 ปี ร้อยละ 60 และสินค้าสำหรับเด็กโตอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปร้อยละ 40 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำหรับเด็กนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เลือกใช้วัตถุดิบที่ได้รับการวิจัยและตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าปลอดสารพิษ การผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโดยไม่ลอกเลียนแบบอย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบต้องใช้มาตรฐานในระดับสูงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างจุดขายให้แก่สินค้าตนเอง อาทิ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และเครื่องสำอางอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ ฯลฯ นายมาณพ กล่าวสรุป
ด้านนายอมร พงษ์เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาสโก้ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ดาสโก้ เป็นอุตสาหกรรมประเภทรับจ้างผลิตหรือ OEM (Original Equipment Manufacturing)ซึ่งก่อตั้งมากว่า 25 ปีแล้ว ส่งออกร้อยละ 100 ไปยังกลุ่มลูกค้าฝั่งยุโรปร้อยละ 40 อเมริการ้อยละ 40 ออสเตรเลียร้อยละ 16 อีกร้อยละ 4 เป็นเอเชีย อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์หลักคือ เบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็ก ทั้งนี้ บริษัทฯ มียอดการส่งออกต่อปีเป็นจำนวนเงินกว่า 800 ล้านบาทอย่างไรก็ตามแม้ว่าบริษัทฯ จะเป็นผู้รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์เบาะนั่งในรถยนต์สำหรับเด็กเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย แต่ในแถบประเทศเพื่อนบ้านยังมีประเทศจีนประเทศเวียดนาม ที่ถือได้ว่าเป็นคู่แข่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เดียวกัน แต่เนื่องจากบริษัทฯสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าด้วยการยึดถือในหลักธรรมาภิบาลและค่านิยมอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการที่ดีต้องมีคุณธรรม เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างที่สูง แต่มีประเทศไทยมีความประณีตและใส่ใจทุกกระบวนการผลิต คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้จึงคุ้มค่า
นายอมร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สภาวะวิกฤติทางการเงินของประเทศในกลุ่มยุโรปซึ่งเป็นตลาดการค้าหลักค่อนข้างผันผวน ค่าเงินไม่คงที่ อีกทั้งต้นทุนด้านวัตถุดิบหลักในการผลิต อาทิ ผ้าหรือฟองน้ำสำหรับเบาะเด็กอ่อน ซึ่งต้องมีความปลอดภัยจากสารเคมีมากกว่าของผู้ใหญ่ถึง 5 เท่าจึงมีราคาสูง รวมทั้งค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ทำให้บริษัทต้องปรับตัวโดยการปรับรูปแบบการบริหารการลงทุน การจัดการบัญชี การบริหารตลาด ตลอดจนการเลือกใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า ลดการเกิดของเสียให้มากที่สุด ซึ่งกลยุทธ์ต่างๆเหล่านี้บริษัทฯ ได้เรียนรู้หลังจากการเข้าร่วมโครงการต่างๆของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) อาทิ โครงการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ SMEs ด้วยระบบ LEAN โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) ตั้งแต่รุ่นที่ 11และล่าสุดเข้าร่วมกิจกรรมบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการการตลาด และการบริการ (CF) โดยประโยชน์ที่ได้รับหลังจากเข้าร่วมโครงการ MDICP นั้น บริษัทฯมีระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานมากขึ้นพนักงานมีการเรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องด้วยทักษะในการคิดเชิงระบบและให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมต่างๆของบริษัทมากขึ้นด้วย บริษัทมองเห็นทิศทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาระยะสั้นและระยะยาวชัดเจนขึ้น บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นจากการพัฒนาบุคลากรและระบบงานเพื่อแก้ไขจุดอ่อนและเสริมสร้างจุดแข็งของบริษัทฯให้เด่นชัดมากขึ้นด้วย
นายอมร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมโครงการต่างๆของกรมฯ ที่ผ่านมานอกจากจะช่วยให้บริษัทฯมีศักยภาพในการบริหารจัดการภายในระบบการผลิตเพิ่มขึ้นแล้วในแต่ละหลักสูตรที่เข้าร่วมอบรมกับกสอ.นั้นล้วนสอดแทรกหลักการที่จะสร้างบริษัทให้มีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาที่ตัวบุคลากรและผลิตภัณฑ์ให้ดีพร้อม ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลและหลักค่านิยมเป็นสิ่งที่บริษัทยึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอด อาทิ
1. การรู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่าย จำหน่าย และขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม
2. การไม่ยอมแพ้ต่อกิเลส นั่นคือบริษัทไม่เคยมีนโยบายรับสินบนเพื่อเผยความลับของลูกค้าให้แบรนด์คู่แข่ง
3. การดำเนินธุรกิจของบริษัทไม่ลืมที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของของลูกค้า ผู้บริโภค ตลอดจนผลประโยชน์ของพนักงานมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัท
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการผ่านโครงการต่าง ๆของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ที่ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4426-7 และติดตามข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่าง ๆ ได้ที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr หรือ Twitter : DIPThailand