กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๑๑๔/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เร่งขับเคลื่อนงานด้านนโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... มีการแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมาย โดยเฉพาะปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปราบปราม การค้ามนุษย์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๕ มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ในวาระแรก และมีมติเห็นชอบ ทั้งนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นรูปธรรม มากยิ่งขึ้น และจะเป็นข้อมูลสนับสนุนที่สำคัญในรายงาน TIP Report
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีพระภิกษุ อายุ ๗๐ ปี ป่วยเป็นโรคต้อกระจกจนสายตา ใกล้บอดและขาพิการ ต้องเดินไปกลับระยะทางกว่า ๑๐ กิโลเมตร ระหว่างที่พักสงฆ์กับหมู่บ้านด้วยความลำบากเพื่อบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้งไว้ประทังชีวิต และใช้ชีวิตอย่างสันโดษเพียงลำพังนานกว่า ๑๐ ปี ที่ จังหวัดชัยภูมิตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ (พมจ.ชัยภูมิ) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลด้านการรักษาพยาบาล รวมทั้งปรับปรุงที่พักอาศัยให้ถูกสุขลักษณะและเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมหญิงชาวไทย อายุ ๕๘ ปีเป็นผู้จัดหาหญิงชาวลาวจำนวน ๒ คน อายุประมาณ ๑๗ ปี และ ๑๙ ปี ลักลอบค้าประเวณีให้กับผู้ใช้บริการโรงแรมแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ซึ่งอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ที่จังหวัดหนองคาย ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองคาย (พมจ.หนองคาย) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือไม่ พร้อมให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายตามภารกิจของกระทรวงต่อไป
“การปรับปรุงกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะขับเคลื่อนนโยบายให้เห็นผลเป็นรูปธรรม” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย