MTLS โชว์ยุทธ์ศาสตร์ปี”58 ขยายตัวทั่วไทย” ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ1.65หมื่นลบ. เพิ่มขึ้นกว่า 30% เทียบปีก่อน ผุดสาขาเพิ่มอีก 900 แห่ง ภายใน 3 ปี ลุยให้กู้เต็มอัตราศึก/พร้อมบุกนาโนไฟแนนซ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 9, 2015 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--IR network บมจ.เมืองไทยลิสซิ่ง (MTLS) เจ้าตลาดสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ของเมืองไทย โชว์ยุทธศาสตร์ปี”58 ขยายตัวทั่วไทย เตรียมเปิดสาขาเพิ่มอีก 900 แห่ง ภายใน 3 ปี (2558-2560) จากสิ้นปีที่ผ่านมามี 500 สาขา เพื่อให้บริการลูกค้าในระดับ“รากหญ้า”เป็นไปอย่างทั่วถึง หลังเดินสายเปิดสาขาทั่วประเทศ กระแสตอบรับดีเยี่ยม “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ”เผยกลุ่มลูกค้าในระดับล่างยังมีความต้องการสินเชื่อเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสถาบันการเงินยังเข้าไม่ถึง มั่นใจยอดปล่อยกู้ทะลุเป้า 1.65 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เตรียมขยายตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล-ลุยนาโนไฟแนนซ์ สนองนโยบายรัฐบาล มั่นใจไร้ข้อจำกัดเรื่องเงินทุนในการปล่อยกู้ เนื่องจากมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนแค่ 0.7 เท่า พร้อมลุยทันทีหากแบงก์ชาติไฟเขียว นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MTLS) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2558 บริษัทเตรียมเปิดสาขาเพิ่มอีก 300 แห่ง จากเดิมตั้งเป้า 150 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพื่อตอบสนองความต้องการสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าในระดับล่าง ที่มีความต้องการสินเชื่อเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน โดยสาขาที่เปิดใหม่จะกระจายไปทั่วประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ขยายตัวทั่วไทย” ซึ่งในปีนี้พนักงานของบริษัทจะมีการเดินตลาดถี่ขึ้น และมีการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าได้รู้จัก และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของบริษัท ผ่านสื่อวิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม “หลังจากที่เราเริ่มขยายสาขาตามแผนในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระแสตอบรับจากลูกค้าดีมาก ทำให้ต้องปรับแผนเปิดสาขาใหม่เป็นปีละ 300 สาขา (2558-2560) ซึ่งจะทำให้ภายในสิ้นปี 2560 มีสาขาทั่วประเทศถึง 1,400 สาขา จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 สาขา เพราะต้องยอมรับว่าลูกค้าในระดับล่าง ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน การเปิดสาขาเพิ่มจะทำให้ฐานลูกค้า และยอดปล่อยสินเชื่อของเราปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม โดยในปีนี้ตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่มเป็น 16,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งผมมั่นใจว่ายอดปล่อยกู้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน เพราะในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ยอดปล่อยสินเชื่อไม่น่าจะพลาดเป้า”นายชูชาติกล่าว สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปีนี้ นายชูชาติ กล่าวว่า ในแง่ของพนักงานของบริษัทจะมีการเดินตลาดเพื่อให้ข้อมูลกับลูกค้าถี่มากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการหาทำเลใหม่ๆ เพื่อขยายสาขา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าได้อย่างลงตัว เพราะหลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ทำให้ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของแหล่งเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2.6 เท่า ทำให้สามารถกู้เพิ่มได้อีกกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สำหรับปล่อยกู้ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการบริหารความเสี่ยง ภายใต้ MTL Model เชื่อว่าจะสามารถรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปีนี้ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอุตสาหกรรมที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 4-6% ในปีนี้บริษัทเตรียมขยายพอร์ตสินเชื่อในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ เพิ่มเป็น 2% ขณะที่สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 80% และสินเชื่อรถยนต์ รถยนต์เพื่อการเกษตรอยู่ที่ 18% จากเดิมที่ยังไม่ได้รุกตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลมากนัก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง กล่าวอีกว่า ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้เข้ารุกในธุรกิจนี้แล้ว โดยอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคาดว่ากระบวนการต่างๆจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน และคาดว่าน่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้สินเชื่อของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้แนวโน้มรายได้ และกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น มากกว่าที่ได้ตั้งเป้าไว้ในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากมีฐานลูกค้า 5-6 แสนคน ไว้รองรับอยู่แล้ว และการขยายสาขาเพิ่มขึ้นทั่วประเทศไทย ทำให้โอกาสในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2557 มีกำไรสุทธิ 544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 193 ล้านบาท หรือ54.82% เมื่อเทียบกับปี 2556 มีกำไรสุทธิ 351 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.37% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2556 อยู่ที่ 1.6%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ