กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง อารมณ์ความรู้สึกของแกนนำชุมชนต่อบรรยากาศทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 730 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 4 - 7 มีนาคม 2558
ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 41.6 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยยละ 38.0 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 15.2 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อย 4.5 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.7 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงประเด็นทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมที่มักจะสนทนาพูดคุยกับคนรอบข้างมากที่สุดนั้นพบว่า ร้อยละ 30.8 ระบุเรื่องเกี่ยวกับ เศรษฐกิจของประเทศ /เศรษฐกิจตกต่ำ รองลงมาคือร้อยละ 19.3 ระบุเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ร้อยละ 14.5 ระบุผลผลิตและราคาสินค้าทางการเกษตร ร้อยละ 11.7 ระบุความรักความสามัคคีของคนในชาติ ความปรองดองของคนในชาติ ร้อยละ 11.0 ระบุความแตกแยกของนักการเมือง/พรรคการเมือง ร้อยละ 9.3 ระบุปัญหาการดำเนินชีวิตทั่วไป/ปัญหาปากท้อง ในขณะที่ร้อยละ 3.4 ระบุมักจะพูดคุยกันในเรื่องอื่นๆ อาทิ ผลงานของรัฐบาล/ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล/การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ/หนี้สินของเกษตรกรและชาวนา /ความขัดแย้งในวงการศาสนา/ความไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น
ประเด็นทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมที่มักจะมีความขัดแย้ง/เห็นต่างกับคนรอบข้างมากที่สุดนั้น พบว่า ร้อยละ 32.2 ระบุ การแบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งฝ่ายทางการเมือง/ถือคนละฝ่าย ร้อยละ 16.3 ระบุ การเลือกตั้ง กำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่ ร้อยละ 14.5 ระบุ กลุ่มการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง ร้อยละ 13.1 ระบุปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ร้อยละ 12.2 ระบุปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ/ทำการเกษตรไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ร้อยละ 3.7 ระบุปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า/ปัญหาที่ดินทำกิน ในขณะที่ร้อยละ 8.0 ระบุผลประโยชน์ของนักการเมือง/ความขัดแย้งของคนในชาติ/การออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาล/การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน/การบริหารงบประมาณท้องถิ่น ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึง ประเด็นทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมที่ทำให้รู้สึกมีความสุขมากที่สุดในขณะนี้พบว่า ร้อยละ 28.4 ระบุคนไทยสามัคคีกัน รักกันมากขึ้น/ความขัดแย้งเริ่มน้อยลง ร้อยละ 27.2 ระบุความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ร้อยละ 16.3 ระบุความสงบสุขของบ้านเมืองที่มีมากขึ้น ร้อยละ 9.6 ระบุการบริหารประเทศของรัฐบาลและ คสช. ร้อยละ 8.7 ระบุการจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น/มีความโปร่งใสมากขึ้น ร้อยละ 5.6 ระบุชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 4.2 ระบุมีความสุขกับเรื่องอื่นๆ อาทิ การใช้ชีวิตแบบพอเพียง/ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ/ประเทศเป็นระเบียบมากขึ้น ตามลำดับ
ประเด็นทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมที่ทำให้รู้สึกเครียดมากที่สุดในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 31.4 ระบุค่าครองชีพ/การดำเนินชีวิต ร้อยละ 23.1 ระบุปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ/ขายไม่ได้ราคา ร้อยละ 17.5 ระบุความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศ ร้อยละ 12.4 ระบุการเลือกตั้งครั้งใหม่ ร้อยละ 9.5 ระบุความขัดแย้ง/แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ร้อยละ 4.3 ระบุปัญหายาเสพติด ในขณะที่ร้อยละ 8.1 ระบุภาระหนี้สิน/ที่ดินทำกิน /สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพง/ปัญหาเด็กวัยรุ่น/ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในปัจจุบัน
ประเด็นทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมที่ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายมากที่สุดในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 27.5 ระบุความขัดแย้งแตกแยกของนักการเมืองรุ่นเก่า ร้อยละ 23.2 ระบุการปฏิรูปประเทศ ร้อยละ 16.2 ระบุการจัดการเลือกตั้ง ร้อยละ 10.8 ระบุการแบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งฝ่าย ร้อยละ 6.4 ระบุการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 4.9 ระบุสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ /ขายไม่ได้ราคา และร้อยละ 11.0 ระบุรู้สึกเบื่อหน่ายกับเรื่องอื่นๆ อาทิ ปัญหาสังคมที่เหลื่อมล้ำ/การเอาเปรียบคนจน-คนบ้านนอก/ภัยแล้ง ทำมาหากินไม่ได้/การเมืองที่ยึดติดกับความขัดแย้ง/การนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อของทุกฝ่าย
ปัญหาที่ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในการดำเนินชีวิตประจำวันในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 28.9 ระบุปัญหาทำการเกษตรไม่ได้ผล และราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 16.0 ระบุปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 15.4 ระบุสินค้าราคาแพง/ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 12.8 ระบุความไม่เป็นธรรมทางสังคม ร้อยละ 10.9 ระบุที่ดินทำกิน/ขาดแคลนที่ดินทำกิน ร้อยละ 4.8 ระบุความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ ร้อยละ 11.2 ระบุอื่นๆ อาทิ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น /ภาระหนี้สินของประชาชน/ภัยแล้ง/ขาดแคลนแหล่งน้ำ
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อสอบถามตัวอย่างแกนนำชุมชนว่าถ้าวันนี้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย สิ่งที่อยากจะทำมากที่สุด เพื่อประเทศชาติและประชาชนคืออะไร ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 30.0 ระบุจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นให้เด็ดขาด ร้อยละ 26.2 ระบุสร้างความสามัคคี /เร่งจัดการกับพวกที่ชอบสร้างความแตกแยก ร้อยละ 19.7 ระบุปราบปรามปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากประเทศไทย ร้อยละ 9.8 ระบุเร่งแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินให้เกษตรกร ร้อยละ 6.7 ระบุช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินให้ประชาชน ร้อยละ 6.1 ระบุให้ความสำคัญกับประชาชน/ยอมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย และร้อยละ 1.5 ระบุอื่นๆ อาทิ จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่/ปรับปรุงถนนหนทาง/แก้ปัญหาเด็กและเยาวชน/ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของไทย/ช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน