กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ระดับกระทรวง ว่า ในการประชุมครั้งนี้ฝ่ายเลขาฯ ได้ดำเนินการรวบรวมผลการพิจารณาอนุมัติโครงการจากคณะกรรมการระดับจังหวัดและตรวจสอบเอกสารโครงการ แผนการใช้เงินและงบประมาณ สรุปแยกเป็นรายโครงการเพื่อเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ จำนวน 226 โครงการ เตรียมเสนอสำนักงบประมาณต่อไป และจะมีโครงการทยอยส่งเข้ามาให้พิจาณาในระยะ 3 สัปดาห์ต่อจากนี้ อีกประมาณ 15,000 โครงการ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานในฤดูแล้งนี้
โครงการที่เสนอผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด สู่การพิจารณาระดับกระทรวงนี้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการปรับปรุง ซ่อมแซมระบบบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากมีความเข้าใจว่าโครงการที่จะได้รับการสนับสนุนจะต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวกับภัยแล้งเท่านั้น ส่วนใหญ่จะนึกถึงการขาดแคลนน้ำ จึงได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงทำความเข้าใจเงื่อนไขของโครงการลงสู่พื้นที่ โดยเป็นโครงการที่สร้างรายได้แก่ชุมชนที่เข้าข่าย 4 ลักษณะ คือ 1.การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 2.การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 3.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 4.การจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ เน้นโครงการที่มุ่งให้เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะมีการชี้แจงรายละเอียดของการจ้างแรงงาน ค่าใช้จ่าย ฯลฯ ที่ชัดเจนด้วย
ด้านสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแผนงานที่ได้วางไว้ ซึ่งครอบคลุมถึงเดือนกรกฎาคม โดยเน้นย้ำให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำเตือนที่ได้ออกประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ ในเรื่องการงดปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา/ลุ่มน้ำแม่กลอง ส่วนปัญหาหมอกควันในขณะนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ จํานวน 2 หน่วย คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.พิษณุโลก เพื่อเฝ้าติดตาม รายงานสถานการณ์เข้ามาเป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการแก้ปัญหาในภาคพื้นดินร่วมกัน ด้วยการรณรงค์ขอความร่วมมือ สร้างความเข้าใจและเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามประกาศเตือนและติดตามสถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน ส่วนในพื้นที่ที่งดปลูกข้าวนาปรัง ก็ไม่ควรฝืนปลูก เนื่องจากจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในภายหลัง พร้อมกันนี้ ได้มีมาตรการรองรับการขาดแคลนรายได้ของเกษตรกรในช่วงภัยแล้งไว้แล้ว คือ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ซึ่งโครงการส่วนใหญ่กำลังทยอยพิจารณาผ่านคณะกรรมการฯระดับอำเภอมาสู่ระดับจังหวัดแล้ว คาดว่างบประมาณจะถึงมือเกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนโครงการได้ไม่เกินสิ้นเดือน เม.ย.นี้ นายชวลิต กล่าว