กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน
“วิชาคณิตศาสตร์” อาจจะเป็นยาขมสำหรับใครหลายๆ คนในช่วงวัยเรียน เพราะเป็นวิชาที่มีเรื่องของตัวเลข มีสัญลักษณ์รูปทรงแปลกๆ ซับซ้อนเข้าใจยาก ต้องใช้ทักษะทั้งความจำ และการคิดคำนวณ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งวิชาเด็กส่วนใหญ่ “ส่ายหน้า” ไม่อยากเรียน แต่สำหรับ “โรงเรียนชุมชนบ้านท่าสองยาง” อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่แม้จะตั้งอยู่ประชิดติดแนวชายแดนไทย-พม่า และเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง แต่วิชา “คณิตศาสตร์” กลับไม่ใช่ปัญหาเพราะที่โรงเรียนแห่งนี้ใช้วิธีบูรณาการการสอนแบบโครงงาน จนสามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ จนได้รับรางวัลการแข่งขันในระดับประเทศมากมาย
แม้ “ทักษะวิชาการ” จะไม่น้อยหน้าโรงเรียนใหญ่ในเมือง แต่ปัญหา “ปากท้อง” ก็มีความสำคัญไม่น้อยที่ส่งผลต่อ “การเรียนรู้” ของเด็กๆ ดังนั้นการหา “อาชีพเสริม” ในระหว่างเรียนจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว “โครงการคณิตสู่รายได้” ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ” จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างรายได้เสริม เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ จากงาน “คณิตศิลป์” ที่บูรณาการศิลปะ ทักษะอาชีพ ควบคู่ไปกับวิชาคณิตศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“นางศิริรัตน์ คำแก้ว” ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเคยได้รับรางวัล “ทุนครูสอนดี” จาก สสค. โดยทุนที่ได้รับได้นำมาพัฒนาเป็น “ศูนย์ฝึกเบเกอรี่ชุมชน” เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง แต่โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้เด็กๆ ได้ครบทุกคน เพราะเป็นการฝึกทักษะอาชีพวันอาทิตย์ ซึ่งในวันหยุดมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปช่วยผู้ปกครองทำงานในไร่ในสวนของที่บ้าน จึงคิดว่าน่าจะมีอาชีพที่พวกเขาสามารถ “ทำอยู่ที่บ้าน” ในยามว่างได้ ประกอบกับเป็นครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ จึงนำเอาลวดลายหรือรูปทรงทางเรขาคณิตพื้นฐานทั้ง 8 ลาย ที่ประกอบไปด้วย รูปทรงวงกลมแบบที่ 1 และแบบที่ 2, รูปทรงสามเหลี่ยมแบบที่ 1 และสามเหลี่ยมแบบที่ 2, รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า, รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปทรงแปดเหลี่ยม และ รูปหัวใจ และนำ “ลายประยุกต์” อีก 20 ลวดลาย มาผสมผสานกับการเย็บปักถักร้อยด้วยเส้นด้ายหลากสีสัน จนเกิดเป็นงานศิลปะที่มีความสวยงามแปลกตา
“งานคณิตศิลป์เป็นการเอาเส้นตรงมาทำให้เกิดเป็นรูปร่างและรูปทรงต่างๆ ขึ้นมา พูดง่ายๆ ว่าเป็นการสร้างรูปภาพต่างๆ ขึ้นมาจากรูปทรงทางเรขาคณิต แทนที่จะใช้การขีดเส้นก็เปลี่ยนมาเป็นการปักเส้นด้ายเป็นเส้นตรงไปตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ ปักซ้อนทับ ผสมผสานกันระหว่างรูปทรงต่างๆ จนขึ้นเป็นภาพ ตรงนี้เด็กนักเรียนก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องรูปทรงเรขาคณิต การวัด คู่อันดับฯลฯ สอดแทรกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว อย่างน้อยก็ทำให้เด็กไม่กลัววิชาคณิตศาสตร์ มองเห็นความสวยงามในวิชาคณิตศาสตร์ เรียนหนังสือได้อย่างมีความสุข ซึ่งในอนาคตเขาก็สามารถต่อยอดพัฒนาไปเป็นอาชีพได้ในกรณีที่อาจจะไม่ได้เรียนต่อ เพราะลงทุนน้อยมีแค่กระดาษ ด้ายและเข็มเท่านั้น” ครูศิริรัตน์กล่าว
น.ส.ศรีวรรณ เพียรตา หรือ “ดาว” นักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่ารูปภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น เกิดจากเส้นตรงหลายๆ เส้นที่มาวางซ้อนกันจนดูเหมือนว่าเป็นเส้นโค้ง ครั้งแรกที่เห็นทุกคนจะพูดเหมือนกันว่าน่าจะยาก แต่พอได้รู้วิธีการและได้ลงมือทำจริงๆ แล้วไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแต่เราจะต้องรู้จักลายพื้นฐานทั้ง 8 ก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถปักลายได้
“การผลิตงานคณิตศิลป์นอกจากจะทำให้มีรายได้ระหว่างเรียนแล้ว ยังทำให้เราใจเย็นขึ้น มีสมาธิมากขึ้น เพราะการปักด้ายต้องตั้งใจ ทำอย่างประณีต ใจร้อนก็ไม่สามารถปักได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จากที่ไม่เคยชอบวิชาคณิตศาสตร์ ตอนนี้ก็รู้สึกว่ามีความน่าสนใจมากขึ้น” น้องดาวบอก
น.ส.ณิชกานต์ กออนันตเลิศ หรือ “น้อย” นักเรียนชั้น ม.3 กล่าวเสริมว่าการเรียนรู้เรื่องลวดลายพื้นฐานนั้น ใช้เวลาในวันหยุดเสาร์อาทิตย์เพียงแค่สัปดาห์ละ 1 วัน มาประมาณ 2 ครั้งก็สามารถทำได้แล้ว แต่สำหรับลวดลายประยุกต์นั้นอาจจะต้องใช้ทักษะฝีมือและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น
“ลายประยุกต์ต้องฝึกหัดกันบ่อยๆ ถึงจะทำได้คล่อง ส่วนมูลค่าของชิ้นงานแต่ละชิ้นจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับความละเอียด ความยากง่าย และเรียบร้อยของชิ้นงาน งานที่มีลวดลายละเอียดสีสันสวยงามที่ปักในกระดาษขนาด เอ 4 จะจำหน่ายพร้อมใส่กรอบรูปในราคา 250 บาท” น้องน้อยกล่าว
ด.ญ.กชนุช ดารากมล หรือ “มูพอ” นักเรียนชั้น ม.2 เล่าว่า แรกๆ ก็ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ แต่พอเห็นชิ้นงานของพี่ๆ ที่ทำออกมาก็เกิดความสนใจ เพราะนอกจากจะสวยงามแล้วก็ยังขายได้ด้วย ที่สำคัญยังได้ออกไปแสดงฝีมือและขายผลงานยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยไป
“การทำงานตรงนี้ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ในวิชาคณิตศาสตร์ไปพร้อมๆ กันเช่น เรื่องเส้นตรง เส้นโค้งคู่อันดับ การกำหนดจุด การแปลงค่าทางเรขาคณิต การสะท้อน เรื่องคู่อันดับ กราฟ สถิติ ที่สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้ และยังเป็นการนำเอาเรื่องของศิลปะมาผสมผสานให้เกิดชิ้นงานที่มีความสวยงามและความน่าสนใจ” น้องมูพอบอก
ซึ่งในตอนนี้ทั้ง 3 คนเล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่ามีเงินรายได้ที่เก็บสะสมจากการผลิตชิ้นงานต่างๆ เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าคนละ 1,000 บาท ซึ่งเงินเหล่านี้จะถูกแปรสภาพไปเป็นหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์ของโรงเรียนเพื่อเก็บไว้ใช้เป็น “ทุน” สำหรับการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพในอนาคตเมื่อพวกเขาจบการศึกษา นอกจากนี้ผลงาน
“คณิตศิลป์” ของโรงเรียนแห่งนี้ยังถูกต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ แก้วกาแฟ พวงกุญแจ จานรองแก้ว แผ่นจิกซอว์ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในระหว่างการประสานงานเพื่อพัฒนาเป็นสินค้า OTOP ของอำเภอ พร้อมจัดหาสถานที่จำหน่าย ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการเกิดความยั่งยืน และสร้างรายได้เสริมที่มั่นคงสำหรับเด็กๆ มากยิ่งขึ้น
“คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ถูกมองว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวกับตัวเลขมีความยากและซับซ้อน แต่ศิลปะถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจของนักเรียนให้มีความชอบที่จะเรียนมากขึ้น เพราะศิลปะเป็นวิชาที่ไม่มีผิดไม่มีถูก ทุกคนสามารถเรียนได้ อย่างน้อยที่สุดเด็กก็จะเกิดเจตคติที่ดีกับวิชาคณิตศาสตร์ แต่สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้ช่วยให้เขาเรียนเก่งขึ้นแบบเห็นความแตกต่างชัดเจน แต่จะช่วยให้เขาได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในวิชาคณิตศาสตร์ผ่านการผลิตชิ้นงาน แม้ว่าเขาจะจบออกไปแล้วไม่ได้เรียนต่อ ต้องไปช่วยงานบ้านเขาก็สามารถที่จะมีรายได้จากการผลิตชิ้นงานในยามว่าง เป็นอาชีพเสริมที่มองเห็นรายได้ชัดเจน” ครูศิริรัตน์กล่าวสรุป.