กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--โพลีพลัส พีอาร์
โรงเรียนสาธิตเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา จัดโครงการ "เติมเต็มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ" (Enrichment Program for Gifted and Talented Students) ปีการศึกษา 2557 โชว์เคสผลงานนักเรียนที่มีความสามารถด้านต่างๆ อาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฯลฯ มุ่งเน้นพัฒนานักเรียนทุกด้านให้เต็มศักยภาพ เน้นการพัฒนาทั้งความรู้ และความสามารถด้านต่างๆ ควบคู่ไปพร้อมกันกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จ่างภากร อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา กล่าวว่า "ทางโรงเรียนฯ ได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ประกอบกับเอกลักษณ์ของโรงเรียนที่มุ่งเน้นพัฒนานักเรียนทุกด้านให้เต็มศักยภาพด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อสนองความต้องการและศักยภาพของนักเรียน ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรมสำหรับนักเรียนทั่วไปและโครงการศึกษาพิเศษ ในขณะเดียวกัน นักเรียนของโรงเรียนจำนวนมาก เป็นนักเรียนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สูง ซึ่งควรได้รับการพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพเพื่อความเป็นเลิศในแต่ละด้านตามความสามารถของนักเรียน จึงได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้น และเพื่อให้นักเรียนของเราได้แสดงความสามารถจากโครงการดังกล่าว จึงได้จัดเสวนา การจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษโดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาอนาคต (Future Problem Solving) ทั้งการนำเสนอกิจกรรมคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมต้น ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต, การนำเสนอกิจกรรมภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, การนำเสนอกิจกรรมวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของระดับประถมศึกษา โดยในวันนี้มีนักเรียนของเรา รวมกว่า 200 ชีวิต เกือบ 10 ทีม ร่วมแสดงความสามารถและโชว์เคสผลงานที่ได้ทุ่มเทในการจัดทำกันขึ้นมา"
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ดารนี อุทัยรัตนกิจ ผู้ริเริ่มและที่ปรึกษาโครงการเติมเต็มศักยภาพที่มีความสามารถพิเศษ ฉายภาพย้อนหลังกลับไปสู่จุดเริ่มต้นให้เห็นว่า "ในระยะเริ่มต้นการดำเนินงาน โรงเรียนฯ ได้
สนับสนุนให้คณะกรรมการไปรับการฝึกอบรมจากผู้ทรงคุณวุฒิจาก University of Northern Colorado (ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ นอร์ธเทิร์น โคโลราโด) รวมทั้งศึกษาดูงานโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาพิเศษให้กับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในรูปแบบต่างๆ ในมลรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาปรับใช้กับการจัดการศึกษาในโครงการ โดยสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ทั้งบุคลากร งบประมาณ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะช่วยก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพของนักเรียน ซึ่งปัจจุบันนับเป็นปีที่ 6 ของการดำเนินโครงการแล้ว ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยเรามุ่งเน้นไม่ใช่เพียงการเสริมสร้างความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการให้นักเรียนเกิดคุณลักษณะของผู้มีความสามารถ 12 ประการ ได้แก่ 1) แรงจูงใจ 2) ความสนใจ 3) ทักษะในการสื่อสาร 4) ความสามารถในการแก้ปัญหา 5) ความจำ 6) ความอยากรู้อยากเห็นและเสาะแสวงหา 7) ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง 8) ความมีเหตุผล 9) จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ 10) อารมณ์ขัน 11) การเอาจริงเอาจัง และ 12) การไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น ทั้งนี้ นักเรียนจะเข้าร่วมกิจกรรมหลังเลิกเรียนในวันปกติ และบางกิจกรรมในวันเสาร์ช่วงเช้า รวมทั้งสิ้น 36ชั่วโมงต่อภาคเรียน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัจฉราพรรณ คอวณิช ประธานโครงการเติมเต็มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับปลายภาคปีการศึกษา 2557 ได้มีการจัดการศึกษา ทั้งหมด 3 รายวิชา ได้แก่ กิจกรรมคณิตศาสตร์ (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) กิจกรรมวิทยาศาสตร์ (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) กิจกรรมภาษาอังกฤษ (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) และกิจกรรมโครงงานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมนักเรียนจากโครงการ ทั้งสิ้น 248 คน นอกจากนั้น ยังมีนักเรียนจากโครงการฯ จะเดินทางไปเข้าร่วมแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต (Future Problem Solving) ที่รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึง จำนวน 8 คนด้วยกัน โดยมีการแข่งขันในระดับเอเชีย ซึ่งนักเรียนของเราสามารถฝ่าฟันเข้ารอบไปแข่งขันต่อได้”
ด้านนักเรียนของสาธิตเกษตรที่มีโอกาสเตรียมเข้าแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งหมด 8 คน โดยแบ่งเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมที่ 1 ด.ช.ดำริ เกตุปัญญา ชั้นมัธยมศึกษา 3/3, ด.ญ.จิรฎา เอกอินทุมาศ ชั้นมัธยมศึกษา 2/4, ด.ช.จิณณพัต พิสิฐชัยกุล ชั้นมัธยมศึกษา 2/1 และด.ช.นรวิชญ์ สุขพรหม ชั้นมัธยมศึกษา 2/5 และ ทีมที่ 2 ด.ญ.ภิญญดา เตโชวาณิชย์ชั้นมัธยมศึกษา 3/5, ด.ช.ธนวินท์ พันธุ์รัตน์ ชั้นมัธยมศึกษา 3/3, ด.ญ.อรพิชชา ชวนะสิขิกร ชั้นมัธยมศึกษา3/5 และ ด.ช.บุริศร์ภัทร์ รัตนะนภาลัย ชั้นมัธยมศึกษา
นอกจากนั้น ภายในงาน ยังมีเหล่านักเรียนที่มาร่วมโชว์เคส แสดงผลงานจากโครงการ ที่ล้วนแล้วแต่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถกันทุกๆ ทีม โดยที่ ดญ.อารยา อินทรวิชัย ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5/2 รับอาสาเป็นตัวแทนเพื่อนๆ ในกลุ่มโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่องสเปรย์ดับกลิ่นจากสมุนไพร เล่าว่า “ในกลุ่มเรามีทั้งหมด 4 คน โดยมีอีก 3 คน ได้แก่ ด.ญ.ณภัธ จาดจันทร์, ด.ญ.ณัชชา คันธกุลดุษฎี และด.ญ.การัณญภาส แสงลิ้มสุวรรณ โดยเราคิดโปรเจ็คต์นี้เพราะที่บ้านทุกคนมีปัญหาเรื่อง กลิ่นอับในห้องต่างๆ รวมถึงมีปัญหาเรื่องยุงด้วยค่ะ เลยเป็นที่มาที่นำเอาไอเดียเรื่องการนำเอาสมุนไพรซึ่งหาได้ง่ายในประเทศของเราเอง รวมถึงไม่มีสารเคมี
มาทำเป็นสเปรย์ดับกลิ่นและสามารถไล่ยุงได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำได้ง่ายและประหยัด ที่สำคัญเนื่องจากไม่มีสารเคมีจึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพค่ะ โดยการทดลองของพวกเราคือ จะมีการนำเอาปลาเค็มซึ่งมีกลิ่นใส่ไว้ในภาชนะ หลังจากนั้น ก็จะเอาปลาเค็มออกและฉีดสเปร์ดับกลิ่นเข้าไป ซึ่งผลการทดลองตัวสเปรย์ดังกล่าวก็ช่วยให้กลิ่นของปลาเค็มหายไปได้ค่ะ โดยพวกเราใช้เวลาในการคิดและทดลองประมาณ 1 เดือน ซึ่งก็รู้สึกดีใจ เพราะได้นำเอาสิ่งที่ร่วมกันคิดและทดลองไปใช้งานที่บ้านของพวกเราและบอกต่อเพื่อนๆ ไปใช้งานได้จริงค่ะ”
โครงการ "เติมเต็มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ" (Enrichment Program for Gifted and Talented Students) นั้น จะมีการจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนที่มีความสามารถได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในทางที่ถูกต้อง รวมถึงค้นพบสิ่งที่ตนเองสนใจและมีความถนัด ซึ่งนับเป็นการจุดประกายก้าวเล็กๆ ของเด็ก ที่จะสามารถช่วยผลักดัน “เพชรในตม” ให้กลายเป็น “เพชร” ที่มีค่าและอยู่ในทางที่ถูกที่ถูกต้องต่อไป กลายเป็น “เพชร” ที่ล้ำค่าของประเทศชาติต่อไป