กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กรมประมง
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจการค้าของตลาดปลาทะเลสวยงามต่างมีความคาดหวังว่าจะได้ปลาที่มาจากการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาการค้าปลาทะเลสวยงามเป็นการใช้ประโยชน์จากปลาที่จับได้ในธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการรบกวนระบบนิเวศของท้องทะเล จนเกิดกระแสแรงต่อต้านของนักอนุรักษ์ธรรมชาติ กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจ
ในการเพิ่มพูนผลผลิตสัตว์น้ำให้แหล่งเพาะเลี้ยงและทุกแหล่งทรัพยากร จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติ และทดแทนการจับจากธรรมชาติ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในส่วนการเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาทะเลสวยงามเป็นอย่างมาก โดยในปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาทะเลสวยงามเพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตของตลาดปลาสวยงามได้หลากหลายชนิด เช่น ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาสลิดหินนีออน ปลาผีเสื้อ และปลาสินสมุทรไบคัลเลอร์ เป็นต้น
นายสุทธิชัย ฤทธิธรรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ล่าสุดทางศูนย์ฯ ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลา “สินสมุทรมัดหมี่” หรือ “Vermiculated Angelfish” ชื่อวิทยาศาสตร์ว่าChaetodontoplus mesoleucus ซึ่งอยู่ในครอบครัวของปลาสินสมุทร รูปร่างลักษณะของปลาชนิดนี้ จะมีหัวสีเหลือง มีลายทางสีดำพาดเป็นแนวตั้งที่บริเวณตา ลำตัวช่วงแรกสีขาว กลางลำตัวมีสีดำแซมขาว และครึ่งหลังมีสีดำ มีหางสีเหลืองลายข้างตัวสีขาวเส้นละเอียดบนพื้นดำมองดูคล้ายเส้นหมี่ หรือ เส้นด้าย จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อ ในภาษาไทยว่า “สินสมุทรมัดหมี่” โดยปกติจะสามารถพบปลาชนิดนี้ได้ตามแนวปะการังบริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทย และทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแฟซิฟิก
สำหรับการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ เริ่มแรกทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการรวบรวมพันธุ์มาจากตลาดปลาสวยงามทั่วไป โดยนำมาเลี้ยงรวมกันในบ่อระบบน้ำหมุนเวียน จัดระบบนิเวศให้คล้ายกับธรรมชาติ และออกแบบให้สามารถรวบรวมไข่ปลาได้โดยง่าย โดยยึดหลักการเลี้ยง 3 ประการ คือ มีคุณภาพน้ำที่ดี อาหารครบถ้วน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และสร้างแหล่งอาศัยคล้ายกับที่อยู่อาศัยเดิมในธรรมชาติ จนล่าสุดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา ปลาสินสมุทรมัดหมี่ได้มีการวางไข่เป็นลักษณะไข่ลอย กลม ใส มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร และใช้เวลาประมาณ 18 - 20 ชั่วโมง จึงเริ่มฟักออกมาเป็นตัว จากนั้นจึงนำลูกปลาไปอนุบาลในถังไฟเบอร์กลาสหรือบ่อคอนกรีต โดยลูกปลาจะเริ่มกินอาหารหลังจากฟักเป็นตัว 24-32 ชั่วโมง ให้อาหารโดยแพลงก์ตอนพืช โรติเฟอร์ และโคพีพอด กินอาร์ทีเมียแรกฟักได้เมื่ออายุ 10 วัน ลูกปลาในระยะแรกจะมีสีดำ ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ เมื่ออายุ 25-30 วัน จึงทำการย้ายลูกปลาไปยังระบบน้ำหมุนเวียน โดยมีการจัดสภาพนิเวศแบบสมดุล ประกอบด้วย ระบบกรองชีววิทยา สาหร่าย ที่หลบซ่อนและหมุนเวียนน้ำด้วยแรงลม หลังจากนี้ เลี้ยงลูกปลาด้วยแพลงก์ตอนสัตว์ตลอดช่วงเวลาของการพัฒนาการ ซึ่งเราจะสามารถพบพฤติกรรมการหลบซ่อนและลูกปลาพัฒนารูปร่างเหมือนตัวเต็มวัยในระยะเวลาประมาณ 35-40 วัน โดยตัวโตเต็มที่จะมีขนาดราว 17 เซนติเมตร
นายสุทธิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม มีผู้เลี้ยงปลาทะเลบางรายได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ปลาชนิดนี้ยากต่อการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในบริเวณกักขัง และมีรายงานว่าปลาวางไข่ในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ผลจากการศึกษาครั้งนี้ กลับพบว่าปลาสินสมุทรมัดหมี่เลี้ยงง่ายภายใต้หลักเกณฑ์ข้อปฏิบัติของทางศูนย์ฯ และเมื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงแล้วจะวางไข่ได้เองตามธรรมชาติ อัตรารอดในการอนุบาลค่อนข้างสูง โตเร็ว มีการพัฒนารูปร่างเหมือนตัวเต็มวัยในระยะเวลาสั้นๆ นอกจากนี้ ปลาจากโรงเพาะฟักจะมีแนวโน้มว่าสามารถฝึกให้กินอาหารสำเร็จรูปได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นแผนงานในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงของทางศูนย์ฯในลำดับต่อไป โดยคาดว่าในอนาคตจะมีการถ่ายทอดเทคนิควิธีการไปยังเกษตรกรเพื่อพัฒนาศักยภาพตลาดปลาทะเลสวยงามของไทยต่อไป