กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ปตท.
นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ความต้องการใช้เอ็นจีวีที่ขยายตัวต่อเนื่อง ปตท. ให้ความสำคัญต่อการขยายจำนวนสถานีบริการและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการอย่างจริงจังเสมอมา ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการให้บริการได้ดีขึ้นตามลำดับ
ปตท. มีแผนพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยศึกษาแนวทางการ “ปรับเปลี่ยน” สถานีบริการเอ็นจีวีนอกแนวท่อส่งก๊าซฯ ให้เป็นสถานีเอ็นจีวีแนวท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งจะทำให้สามารถบริการก๊าซฯ ได้อย่างต่อเนื่อง แก้ไขปัญหาก๊าซฯ ขาดจากการขนส่งทางรถ และการรอใช้บริการได้ รวมทั้งมีแผนในการพัฒนาภาพลักษณ์การบริการภายในสถานีฯ อาทิ การจัดอบรมพนักงานในด้านการบริการลูกค้า การดูแลความสะอาดภายในสถานีฯ การซ่อมบำรุงอุปกรณ์และโครงสร้างสถานีที่ชำรุดอย่างเร่งด่วน การเพิ่มธุรกิจเสริม อาทิ ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน เซเว่นอีเลฟเว่น และร้านอาหาร รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างความร่มรื่นและสวยงาม เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการภายในสถานีฯ โดย ปตท. ได้จัดประกวดสถานีบริการเอ็นจีวีมาตรฐานดีเยี่ยมและห้องน้ำสะอาดเป็นประจำทุกปี เพื่อผลักดันให้ทุกสถานีบริการฯ ใส่ใจดูแลภาพลักษณ์และมาตรฐานสถานีบริการเอ็นจีวีของตนเองเพื่อสร้างความพึงพอใจในการเข้าใช้บริการของลูกค้า
นอกจากนี้ ปตท. ยังตระหนักถึง “ความปลอดภัย” ในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ ทั้งในส่วนของการขนส่ง การให้บริการ และการใช้งาน โดยมีแผนในการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด IVMS (In Vehicle Monitoring System) ในรถหัวลาก ช่วยควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน และติดตามพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และในส่วนของสถานีบริการฯ ได้เพิ่มความปลอดภัยด้วยการเปลี่ยนโคมไฟเกาะจ่ายเป็นหลอดไฟแบบ LED เพื่อช่วยเพิ่มแสงสว่างภายในสถานีฯ พร้อมกันนี้ ปตท. ยังได้รณรงค์ให้ผู้ใช้รถเอ็นจีวีตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรถเอ็นจีวีอย่างถูกต้อง หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์เอ็นจีวีด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัยในการใช้พาหนะ ประกอบด้วย การเช็ค 3 ขั้นตอน ได้แก่
1) เช็คถังก๊าซ หมั่นตรวจสอบสภาพถังก๊าซเอ็นจีวี ไม่มีรอยขีดข่วนลึก มีสนิม สายรัดถังต้องยึดถังแน่นขยับไม่ได้ ยางรองถังต้องไม่เสื่อมสภาพ ไม่หลุดจากถังและสายรัดถัง
2) เช็คอุปกรณ์ก๊าซเอ็นจีวี สำคัญอื่นๆ ได้แก่ หม้อต้มก๊าซ หัวฉีด ต้องไม่พบก๊าซรั่วไม่ชำรุด
3) เช็คท่อก๊าซ ไม่มีรอยแตกร้าว แข็งหรือกรอบ
เนื่องจากตามกฎหมายรถที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ต้องได้รับการตรวจและทดสอบอุปกรณ์เอ็นจีวีจากผู้ตรวจที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งรถที่ผ่านการตรวจแล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์ซึ่งมีอายุ 1 ปีเป็นหลักฐาน เพื่อใช้ในการเข้ารับบริการ อันเป็นมาตรการความปลอดภัยสำหรับให้ผู้ใช้เอ็นจีวีนั่นเอง
การดำเนินงานธุรกิจเอ็นจีวีในปี 2557 ที่ผ่านมา ปตท. ได้เพิ่มสถานีบริการเอ็นจีวี 7 แห่ง ทำให้ปัจจุบันมีสถานีบริการฯ รวม 497 แห่ง ครอบคลุม 54 จังหวัดทั่วประเทศ และในปี 2558 มีแผนที่จะก่อสร้างสถานีบริการฯ เพิ่มอีก 7 แห่ง รวมถึงหากการดำเนินโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 4 (ระยอง–แก่งคอย) และการขยายแนวท่อส่งก๊าซฯไปยังจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดนครราชสีมา แล้วเสร็จ ก็จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตและจำหน่าย NGV ระยะ 3 ปี (ปี 2558-ปี 2560) ได้อีก 1,100 ตันต่อวัน จะทำให้มีก๊าซเอ็นจีวีพร้อมให้บริการในภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้น
“นโยบายของภาครัฐในการทยอยปรับราคาเอ็นจีวีให้สะท้อนต้นทุน ทำให้ลดภาระขาดทุนเอ็นจีวีลงได้บางส่วน และทำให้ ปตท. มีกำลังในการขยายธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันราคาขายปลีกเอ็นจีวี ที่ 13.00 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่ยังไม่สะท้อนต้นทุน โดยนับตั้งแต่ปี 2546 ปตท. มีภาวะขาดทุนสะสมเอ็นจีวีกว่า 110,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้สนับสนุนนโยบายของรัฐในการช่วยเหลือรถสาธารณะเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการรถสาธารณะทั่วไปด้วยการให้ส่วนลดเติมก๊าซฯ ผ่านบัตรส่วนลดราคาเอ็นจีวี 3 บาทต่อกิโลกรัม และเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อเป็นการขอบคุณผู้ใช้บริการเอ็นจีวีทุกท่าน ซึ่งเชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ สามารถแจ้ง ข้อร้องเรียน แนะนำ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ PTT Call Center 1365 กด 5 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายสมเกียรติ กล่าวเสริมในตอนท้าย