กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายกฯ ร่วมประชุมลดความเสี่ยงภัยพิบัติระดับโลก ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น พร้อมแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมความร่วมมือจัดการภัยพิบัติกับประเทศต่างๆ ในทุกภูมิภาค รวมถึงแถลงวิสัยทัศน์แสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการ ภัยพิบัติ เพื่อมุ่งสร้างประเทศไทยให้พร้อมรับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว และคนไทยมีความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในเวทีระดับโลก โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (The Third United Nations World Conference in Disaster Risk Reduction : 3WCDRR) ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการเปิดเวที ให้ประเทศในทุกภูมิภาคร่วมกันประเมินความสำเร็จในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ (พ.ศ. 2548 – 2557) รวมถึงพัฒนาแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสำหรับเป็นแนวทางการปฏิบัติสากลในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระยะ 15 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2558 – 2573) เพื่อให้ทุกประเทศมีแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล โดยประเทศสมาชิกต้องนำหลักการและแนวทางที่กำหนดมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบททางกฎหมาย สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่มุ่งลดความล่อแหลม ความเปราะบางและเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการพร้อมรับ ปรับตัว และฟื้นกลับเร็ว เมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ 4 พันธกิจหลัก ได้แก่ การเข้าใจความเสี่ยง การส่งเสริมธรรมาภิบาลและความเข้มแข็งของสถาบันในการจัดการความเสี่ยงภัย การลงทุนในภาคเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่รู้รับปรับตัว และการเสริมสร้างการเตรียมพร้อม เพื่อการรับมือที่มีประสิทธิภาพ และการฟื้นกลับ รวมถึงการสร้างใหม่ที่ดีกว่าเดิม สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนให้มีความตระหนักรู้และสามารถจัดการภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง ในเบื้องต้น
นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า ทิศทางการลด ความเสี่ยงจากภัยพิบัติระดับนานาชาติและระดับโลกภายใต้กรอบดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการรับมือและฟื้นตัวจากภัยพิบัติให้กับประเทศที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่เป็นเกาะ ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีความเปราะบางและขาดศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติ ทั้งนี้ ในการประชุม WCDRR ครั้งที่ 3 ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากทั่วโลกจะให้การรับรองร่างปฏิญญาเซนได เพื่อร่วมแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองและความมุ่งมั่น ของรัฐบาลประเทศต่างๆ และทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามกรอบดังกล่าว เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ร่างกรอบการดำเนินงานลดความเสี่ยงจาก ภัยพิบัติในระยะ 15 ปี ข้างหน้า เป็นผลมาจากการประชุมหารือลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึง การประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งที่ 6 พ.ศ. 2557 (The 6th Asian Ministerial Conference on Disaster Risk Reduction : AMCDRR) ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้นำปฏิญญาเซนไดที่ทุกประเทศให้การรับรองในการประชุมลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติระดับโลกมาเป็นปรับใช้เป็นแนวทาง ในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว และคนไทยมีความปลอดภัยจาก ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน
0-2243-0674
0-2243-2200
www.disaster.go.th