กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
วิชาชีพนักบินพาณิชย์สุดฮอดและเป็นที่ต้องการสูงทั่วโลก ในโอกาสที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เปิดศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยและในอาเซียน ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีการฝึกบินด้วย Flight Simulator Redbird SD แห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์การบินแห่งสหรัฐอเมริกา นั้น 4 องค์กรของไทย ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล., สมาคมนักบินไทย ,วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และโรงเรียนการบินเอเชีย เอวิเอชั่น อะคาเดมี่ (AAA) ลงนามความร่วมมือในการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ เดือนสิงหาคม 2558 ที่คณะวิศวลาดกระบัง สจล.รองรับประเทศไทยจะก้าวสู่ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและศูนย์กลางธุรกิจการบินอาเซียน คาดตามความต้องการนักบินในอาเซียนอีก 10 ปีข้างหน้า 20,000 คน หากรวมความต้องการนักบินทั่วโลกจากการคาดการณ์ของแอร์บัสและโบอิ้งใน 20 ปีข้างหน้าประมาณ 5 แสนคน โดยเป็นนักบินในเอเซีย 2 แสนคน
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงความต้องการนักบินพาณิชย์และที่มาการเปิดห้องปฎิบัติการและหลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ ว่า “ความเติบโตของอุตสาหกรรมการบินและเดินทางท่องเที่ยว และมีอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินเพื่อการส่งออกที่เข้มแข็งอีกด้วย มูลค่าการนำเข้าเครื่องบินและส่งออกชิ้นส่วนของไทยในปี 2556 ประมาณ 142,200 ล้านบาท รวมทั้งการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี 2554 ใน 6 ประเทศอาเซียน อย่าง เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย มีสายการบินต้นทุนต่ำเพิ่มขึ้นกว่า 7 สายการบิน คาดการณ์ว่าในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า จะมีความต้องการในการใช้เครื่องบินในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ทำให้มีความต้องการนักบินพาณิชย์สูงมากขึ้น การขาดแคลนนักบินมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากการเตรียมบุคลากรเป็นนักบิน มีค่าใช้จ่ายที่สูงและใช้เวลานาน หลายสายการบินกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำของผู้ที่จะเข้าเป็นนักบินฝึกหัดว่าจะต้องสำเร็จการศึกษาอย่างน้อยปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงได้เตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์(Aeronautical Engineering and Commercial Pilot) ในเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อผลิตวิศวกรการบินและนักบินพาณิชย์ที่มีคุณภาพระดับนานาชาติ
จุดเด่นของโครงการหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ คณะวิศวลาดกระบัง เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ทัดเทียมกับระดับนานาชาติ เน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ไม่ใช่การฟัง ได้ยิน หรือเพียงมองเห็น แต่ต้องลงมือปฏิบัติจริง สามารถนำความรู้มาสังเคราะห์และประยุกต์ใช้ได้โดยลงมือปฏิบัติจริงและมีการศึกษาดูงานจากสถานที่ประกอบการจริง ผู้เรียนจะได้รับพื้นฐานแข็งแกร่งทางวิศวกรรมเครื่องกล โทรคมนาคมผสมผสานกับอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของวิศวกรรมการบิน พร้อมส่งเสริมความชำนาญในวิชาชีพด้วยการฝึกปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิศวลาดกระบังเป็นที่เดียวที่มีสนามบินชุมพรอยู่ติดกับสถาบัน เราฝึกให้เป็นนักบินที่มีคุณภาพ เมื่อจบแล้วสามารถทำงานกับสายการบินได้ทั่วโลก อีกทั้งได้ฝึกโรงเรียนการบินที่ขอรับอนุญาตจากกรมการบินพลเรือน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ วุฒิปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ และมีสิทธิ์สอบเพื่อได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี พร้อมกับจบหลักสูตรการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน และ หลักสูตรการบินด้วยเครื่องบินหลายเครื่องยนต์จากกรมการบินพลเรือนอีกด้วย”
ดร.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น ประธานโครงการหลักสูตรป.ตรี วิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “โครงสร้างหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์(Aeronautical Engineering and Commercial Pilot) นี้เป็นระบบการศึกษาแบบทวิภาค 4 ปี รวมตลอดหลักสูตร 145 หน่วยกิต เน้นการนำความรู้พื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาประยุกต์รวมกับความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมอากาศยาน และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักบินพาณิชย์ โดยหลักสูตรแบ่งเป็นหมวดวิชาต่างๆ คือ 1.หมวดวิชาศึกษาทั่วไป จำนวน 30 หน่วยกิต ซึ่งเป็นการศึกษาวิชาพื้นฐานสำหรับนักศึกษาในหลักสูตรของสถาบันฯประกอบด้วยกลุ่มวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ / มนุษยศาสตร์พื้นฐานวิทยาศาสตร์ / คณิตศาสตร์ และภาษาศาสตร์ 2.หมวดวิชาเฉพาะ ไม่น้อยกว่า 108 หน่วยกิต ซึ่งแบ่งออกเป็น กลุ่มวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ กลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรม(Engineering Core Courses ) กลุ่มวิชาวิศวกรรมเฉพาะ (Aeronautical Courses) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิชานักบินพาณิชย์ (Commercial Pilot Courses) 3.หมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต เลือกศึกษาวิชาใดก็ได้ที่เปิดสอนในสถาบัน (Free Elective Courses 6 Credits) ทั้งนั้ในปีแรกคณะวิศวลาดกระบัง สจล.ตั้งเป้ารับนักศึกษาจำนวน 30 คน ขณะนี้ได้รับความสนใจมีผู้ต้องการสมัครเป็นจำนวนมาก”
ในโอกาสนี้คณะวิศวลาดกระบัง สจล.ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ ที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย ครบครันด้วยเทคโนโลยี อุปกรณ์การเรียนที่มีคุณภาพและสภาพแวดล้อมที่ทันสมัยเหมาะสมกับการเรียนในยุคปัจจุบัน อาทิเช่น เครื่องจำลองฝึกการบิน Flight Simulator Redbird SD มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์การบินแห่งสหรัฐอเมริกา รุ่นใหม่ล่าสุด เครื่องแรกของประเทศไทย ซึ่งนักศึกษาตั้งแต่ปี 1 จะได้ฝึกทักษะการบินจำลองสถานะการณ์และได้ฟังการโต้ตอบจากหอบังคับการบินแบบเรียลไทม์ในสนามบินที่สำคัญต่างๆได้ทั่วโลก เช่น พายุฝนฟ้าคะนอง สนามบินดอนเมือง มีหมอกทึบ, เครื่องยนต์ดับ สนามบินนาริตะ ในญี่ปุ่น, พายุหิมะตก สนามบินอินชอน ในเกาหลี, ตกหลุมอากาศ สนามบินชิคาโก ในสหรัฐฯ ฯลฯ พร้อมระบบเสียง เช่นเสียงเครื่องยนต์ เสียงฟ้าผ่า เป็นต้น ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในการเป็นนักบินที่มีความเชื่อมั่นและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ”
กัปตันสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย (Thai Pilots Association) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกนักบินกว่า 1,300 คน กล่าวว่า “รัฐบาลมีแนวคิดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ พัฒนาระบบราง สนามบิน ศูนย์กลางธุรกิจการบินและซ่อมบำรุง แต่ไม่ได้พูดถึงการผลิตวิศวกรการบินและนักบินเลย “คน” เป็นหัวใจสำคัญยิ่งของการบินและความปลอดภัย นักบินเป็นอาชีพในฝันของเด็กๆและใครหลายคน ซึ่งพิเศษแตกต่างจากอาชีพอื่น คือ ทำงานบนอากาศ ต้องใช้กระบวนการคิดและทักษะทำงานภายใต้ภาวะความกดดันทั้งเรื่องเวลา ความเสี่ยง ความปลอดภัยต้องร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับผู้โดยสารและการบิน หากมีเหตุฉุกเฉิน นักบินจะต้องมีทักษะและวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องรวดเร็วและปลอดภัย ดังนั้นบุคลิกภาพและคุณสมบัติที่ควรมีอยู่ในตัวนักบิน ประการแรกต้องมีวินัย มั่นคงทางอารมณ์และสามารถควบคุมตัวเองให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดโดยเคร่งครัด 2.มีใจรักที่จะเป็นนักบินจริงๆ เพราะเป็นแรงจูงใจที่จะสร้างความมุ่งมั่นและความพยายาม 3.มีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยต้องผ่านการตรวจร่างกายและทดสอบทางจิตเวช 4.มีพัฒนาการที่ดีและมีทักษะความถนัดในการเป็นนักบิน เช่น สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกันหรือไม่ เพราะนักบินต้องตาดู หูฟัง สมองคิด ปากพูด มือทำ 5.ต้องเป็นคนที่หัดคิดและวางแผนเป็นขั้นตอนตลอดเวลา 6.เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ต้องมีสมาธิในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี และ 7.มีทั้งความเป็นผู้นำและต้องรู้จักการทำงานเป็นทีม เพราะเครื่องบินโดยสารหนึ่งลำ มีผู้ร่วมงานที่เป็นนักบินด้วยกัน (Co-Pilot) เครื่องบินบางประเภทต้องมีนักบิน 3 คน มีพนักงานต้อนรับบนเครื่อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้ภารกิจการบินลุล่วงไปด้วยดี นักบินต้องมีความรู้จริงในอาชีพ รู้เทคโนโลยีและการใช้ มีทักษะการสื่อสารดีเยี่ยมทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เป็นผู้ฟังที่ดี ยอมรับคำวิจารณ์ของผู้อื่นได้ เพื่อนำมาใช้ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การฝึกฝนตั้งแต่เด็กจะทำให้เขาเป็นนักบินที่ประสบความสำเร็จ พัฒนากระบวนการรับรู้รวดเร็วถูกต้อง (Perceptual Processing) เพราะต้องดูปุ่มต่างๆ ดูสัญญาณไฟ การตีความสภาพแวดล้อม มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง, มีการตอบสนองได้โดยอัตโนมัติ (Psychomotor Coordination) สามารถฝึกฝนจากกีฬาหรือดนตรี กล้ามเนื้อ ร่างกายและสมองทำงานสัมพันธ์กันได้ดี”
กัปตันสินนภ เทพรักษา อุปนายกสมาคมนักบินไทย กล่าวว่า “การคมนาคมขนส่ง และธุรกิจการบิน เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2559 ไทยตั้งอยู่ในใจกลางภูมิภาคอาเซียนบนภาคพื้นทวีป มีพรมแดนติดกับหลายประเทศ ทำให้ไทยมีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง(Logistics Hub) และศูนย์กลางธุรกิจการบินอาเซียน ปี 2556 มีเที่ยวบินผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองรวม 440,000 เที่ยว และไทยกำลังเล็งเห็นโอกาสในการเป็น "ศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค" ที่อู่ตะเภาด้วย ในการคัดเลือกเข้าทำงานเป็นนักบินนั้น บ่อยครั้งที่มีข้อสังเกตว่า รร.การบินหลายแห่งมีหลักสูตรและวิธีการสอนยังไม่เข้มข้นพอ จึงนับเป็นโอกาสอันดีของประเทศที่จะมีหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งมีความโดดเด่นด้านวิศวกรรมและทักษะการปฏิบัติ จะช่วยเสริมศักยภาพความพร้อมและการแข่งขันของไทยในอุตสาหกรรมการบินและคมนาคมขนส่ง ในอนาคตวิศวกรรมโทรคมนาคมในการบินจะก้าวหน้ามาก การสื่อสารส่งเป็นเมสเสจได้ ดาวน์ลิ้งค์กับระบบนำร่องได้ เครื่องบินจะสามารถคุยกันเอง หาเส้นทางเองได้ในอนาคต”
พลอากาศเอก อนิรุท กิตติรัต ผู้อำนวยการโรงเรียนการบินเอเชีย เอวิเอชั่น อะคาเดมี่ (Asia Aviation Academy : AAA) กล่าวว่า “ปัจจุบันในประเทศไทยมีสถาบันด้านการบินและนักบินพาณิชย์อยู่ทั้งหมด 6 โรงเรียน คือ วิทยาลัยการบินนานาชาตินครพนม, ม.รังสิต, โรงเรียนการบินกรุงเทพ Bangkok Aviation Center, สถาบันการบินพลเรือน, Royal Sky Aviation Center และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร นับเป็นแห่งที่ 6 ของไทย สำหรับคุณสมบัติการรับสมัครนักบินของสายการบินและบริษัทต่างๆ 1.นักบินที่มีประสบการณ์การบินมาแล้ว 500 - 1,000 ชม. ขึ้นไป 2.จบปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์ ดังนั้นแทนที่จะจบปริญญาตรีแล้วค่อยไปเรียนต่อนักบิน ก็สามารถมาเรียนได้จากคณะวิศวลาดกระบัง จีนมีประชากร 1,300 ล้านคน แต่ไม่มี รร.การบิน จึงส่งไปเรียนประเทศอื่นและใช้นักบินต่างประเทศ อยากให้เรามองไกล อนาคตไทยสามารถส่งออกนักบินได้ แต่เราต้องวางแผนส่งเสริมการศึกษาการบิน พัฒนาศักยภาพบุคคลากรและภาษา ต้องแก้ไขอุปสรรคด้านกฏหมายด้วยเนื่องจากการบินจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ วิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ ที่คณะวิศวลาดกระบัง สจล.จะช่วยเปิดประตูสู่ฟ้ากว้างและเติมเต็มศักยภาพของนักบินไทยรุ่นใหม่ ”