กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้เปิดเผย หลังการประชุมเพื่อปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2558 ครั้งที่ 2 ว่า ทางคณะกรรมการได้เห็นชอบในการปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2558 ครั้งที่ 2 มีวงเงินเพิ่มขึ้น 82,260.73 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 418,809.44 ล้านบาท เป็น 501,070.17 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ส่วนแรกโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน (มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง) 57,000 ล้านบาท ส่วนแรกนี้มีความจำเป็น เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานได้โดยเฉพาะในภาคชนบท ซึ่งภาคเกษตรกรรมเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและปีนี้อาจเจอกับภัยแล้งรุนแรง การจ้างงานในชนบทก่อให้เกิดรายได้ชดเชยและทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆเสริมโดยเฉพาะมาตรการลงทุนในสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ เช่น การลงทุนระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดใหญ่ๆที่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชน เพราะระบบโครงข่ายถนนของไทยนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ดีพอประมาณแล้ว ส่วนที่สอง การขยายสินเชื่อให้องค์การสวนยางผ่าน ธกส 6,000 ล้านบาทมีความจำเป็นเนื่องจากราคายางตกต่ำ รายได้เกษตรกรลดลง อย่างไรก็ตาม องค์การสวนยางต้องไปทำสะต็อคยางพาราในคลังสินค้าให้ถูกต้องและเป็นไปตามข้อเท็จจริงเพื่อให้การใช้เงินกู้อันเป็นหนี้สาธารณะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประเทศและประชาชน ลดความรั่วไหลและเกิดความโปร่งใสเพิ่มขึ้น หรือ ทำประกัน (Insurance) สะต็อคยางพาราเพื่อประกันความเสียหายเนื่องจากที่ผ่านมามักจะเกิดเพลิงไหม้เสมอและบริษัทประกันก่อนรับประกันจะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินจะได้รู้ว่ายางพารามีอยู่จริงเท่าไหร่ในคลังสินค้า ส่วนที่สาม กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ ECP (Euro Commercial Paper) ให้การบินไทย 19,560 ล้านบาท มีความจำเป็นเนื่องจากการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักแต่ต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย รวมทั้ง การบินไทยต้องพยายามปรับปรุงฐานะการขาดทุนและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลังต่อประเทศ
ทาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ปรับตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจลดลงและปรับเพิ่มหนี้สาธาณะคงค้างเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดี ค่อนข้างชัดเจนว่า เราไม่สามารถเข้าสู่ภาวะงบประมาณสมดุลได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้เดิม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากเดิมที่ตั้งสมมติฐานไว้ที่ 4-5% ในระยะหกปีข้างหน้า มาอยู่ที่ 3.5-4% หนี้สาธาณะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในสมัยรัฐบาล คสช และ การชดเชยความเสียหายจากโครงการของรัฐบาลที่ผ่านๆมา รวมทั้งการกู้เงินให้รัฐวิสาหกิจที่ประสบการขาดทุนจำนวนไม่น้อย เป็นสมมติฐานที่อนุรักษ์นิยมหรือค่อนข้าง Conservative ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความระมัดระวังในการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต สมมติฐานดังกล่าวทำให้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับเพิ่มจากระดับสูงสุดเดิมที่ 47.5% มาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 50% (ยังคงอยู่ในกรอบวินัยทางการคลังอยู่ แต่ต้องระมัดระวังภาระหนี้ผูกพันเพิ่มขึ้นจากมาตรการกึ่งการคลังที่ดำเนินการมาหลายรัฐบาลก่อนหน้านี้) ส่วนการเห็นชอบรายงานแผนโครงการเงินกู้ 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) นั้น โดยภาพรวมเห็นด้วย มีข้อสังเกตว่า เงินกู้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายควรเป็นวางรากฐานเพื่อให้มีการต่อยอดต่อเนื่องมุ่งสู่เป้าหมายให้ “ไทย” ก้าวข้ามพ้น กับดักรายได้ระดับปานกลางและสู่การเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ในอนาคตสัก 10-15 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ควรต้องพิจาณาพลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า ไทยควรมียุทธศาสตร์และจะสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) กับอาเซียนอย่างไรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน