กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--บลจ.กสิกรไทย
นายพงศ์พิเชษฐ์ นานานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม แฟคทอรี่แอนด์แวร์เฮ้าส์ ฟันด์ (WHAPF) สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2558 ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนวันที่ 20 มีนาคม 2558 ในอัตรา 0.1850 บาท ต่อหน่วย โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลดังกล่าวในวันที่ 31 มีนาคม 2558 มูลค่าการจ่ายเงินปันผลรวม 173.73 ล้านบาท
นายพงศ์พิเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุน WHAPF ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง และมีการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งหากนับรวมการจ่ายเงินปันผลในครั้งนี้ด้วย กองทุน WHAPF มีการจ่ายเงินปันผลแล้ว 16 ครั้ง เป็นอัตรารวมทั้งสิ้น 2.9517 บาทต่อหน่วย โดยสามารถคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 7% ต่อปี อย่างไรก็ตามสำหรับผลการดำเนินงานในรอบบัญชีที่ผ่านมา (1 ส.ค 2557 - 31 ม.ค 2558) กองทุนยังคงมีรายได้อย่างสม่ำเสมอจากค่าเช่าของอาคารคลังสินค้าและอาคารโรงงานต่างๆ โดยในปัจจุบันกองทุน WHAPF ถือครองทรัพย์สินในโครงการรวมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 17 โครงการ อาทิ โครงการคลังสินค้า Kao 1 , Kao 2 และ Kao 3, โครงการอาคารคลังสินค้า DKSH จำนวน 7 โครงการซึ่งตั้งอยู่ที่บางพลี บางปะอิน และบริเวณถนนบางนา-ตราด ก.ม.20, โครงการศูนย์กระจายสินค้า WHA Mega Logistics Center บนถนนบางนา-ตราด ก.ม.19 และโครงการศูนย์กระจายสินค้า WHA Mega Logistics Center บริเวณ อ.พานทอง จ.ชลบุรี, โครงการ DSG 1 และ 2 ในเขตประกอบการเหมราช จ.สระบุรี และยังมีโครงการโรงงานอีก 3 โครงการ คือ โครงการโรงงาน Primus และโครงการโรงงาน Ducati 1 และ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ. ระยอง
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนที่มีผลกระทบต่อกองทุนในปี 2557 ที่ผ่านมา นายพงศ์พิเชษฐ์กล่าวว่า “ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 อุตสาหกรรมคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าในภาพรวม ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง และสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงการไร้ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2556 - มิถุนายน 2557 ทำให้ตลอดระยะเวลาดังกล่าวไม่มีการอนุมัติโครงการลงทุนขนาด 200 ล้านบาทขึ้นไป ประกอบกับการลดลงของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศกว่า 40.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้อุปสงค์ของคลังสินค้าและโรงงานเกิดการชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 อุตสาหกรรมคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าได้ปรับตัวดีขึ้นหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มเข้าสู่ความสงบ และสภาวะทางเศรษฐกิจรวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับ BOI ได้เริ่มทยอยอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2557 เป็นต้นมา ส่งผลให้ความต้องการเช่าคลังสินค้าและโรงงานเกิดการขยายตัวตามลำดับ ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมมีการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ภาพรวมในปี 2558 บลจ.กสิกรไทยยังมีมุมมองต่อการเติบโตของธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าในประเทศไทย ว่ายังคงมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยเฉพาะการบริโภคในประเทศที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงจะได้รับอานิสงส์จากการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งประเทศไทยมีทั้งศักยภาพและความพร้อมในด้านการลงทุน อาทิ ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคและการขนส่ง การมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และคลังสินค้าคุณภาพสูง ดังนั้นจากปัจจัยบวกที่กล่าวมา จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กองทุนยังคงสามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอจากสัญญาเช่าระยะยาว และยังช่วยเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ลงทุนด้วย