กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
มท.1 สั่งการ ปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแผนบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 เชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ โดยสำรวจปริมาณน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง ไว้ล่วงหน้า จัดทำพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมจัดลำดับความเร่งด่วนในการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรับมือวิกฤตภัยแล้งให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 23 จังหวัด 105 อำเภอ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2558 โดยสำรวจปริมาณน้ำ จัดทำพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง กำหนดแผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน การปฏิบัติการฝนหลวง การขุดเจาะบ่อบาดาล การประสานขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำสะอาดส่งน้ำไปยังจุดที่ขาดแคลนน้ำ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ล่วงหน้าทุกพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการส่งน้ำดิบไปยังพื้นที่ขาดแคลน ตลอดจนจัดลำดับความเร่งด่วนในการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยบริหารจัดการและจัดสรรกิจกรรมการใช้น้ำตามความสำคัญ ดังนี้ 1.น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ หรือผลักดันน้ำเค็ม 3.น้ำเพื่อการเกษตร เพื่อรับมือวิกฤตภัยแล้งให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ระยะนี้บางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 23 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เชียงใหม่ พิจิตร แพร่ ตาก นครสวรรค์ สุโขทัย และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ และมหาสารคาม ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ราชบุรี ชัยนาท และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี และชลบุรี ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ ตรัง และสตูล รวม 105 อำเภอ 588 ตำบล 5,377 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 7.17 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานจังหวัดสำรวจและจัดทำบัญชีปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการสูบน้ำดิบเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านและถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้ประชาชนได้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนจัดหา ทำความสะอาด ซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ สำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภคและใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรควรติดตามสถานการณ์น้ำ เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง เพื่อป้องกันมิให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย