กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สปช.อุบลราชธานี
สปช.ฟังเสียงคนอำเภอบุณฑริกประสานเสียงโวยถนนโลกพระจันทร์ ยาบ้าระบาดหนัก ฝันอยากเห็นสนามบินนานาชาติช่องตาอู , อำเภอสีเขียว ทางสวย สะดวก ปลอดภัย ไม่มีการทุจริต
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ที่ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราขธานี สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจ.อุบลราชธานี (สปช.อุบลฯ) ลงพื้นที่จัดเวทีต่างอำเภอเป็นครั้งที่ 6 มีผู้เข้าร่วม 83 คน ผลการประชุมพบว่าชาวอำเภอเขื่องในมีความสนใจในประเด็นปฏิรูปการเมืองมากที่สุด ตามมาด้วยประเด็นด้านการปกครองท้องถิ่น , ด้านสังคม ชุมชน เด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส , ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว การบริการ และด้านการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
แนวทางการแก้ปัญหา การซื้อสิทธิ์ขายเสียง ส่วนใหญ่เห็นว่าควรออกกฎหมายเพิ่มโทษคนซื้อคนขายให้หนักขึ้น เช่น ตัดสิทธิ์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย 10 ปีหรือตลอดชีวิต , ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและรัดกุม , มีการสอบเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองแทนการเลือกตั้ง เสนอให้เลือกตั้งส.ส.โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เช่น อุบลราชธานีมี 11 เขต ก็เลือก 11 คนทั้งจังหวัด ผู้ได้รับเลือกอันดับที่ 1-11 ก็ได้เป็นส.ส. จะทำให้การซื้อเสียงลำบากยิ่งขึ้นเพราะต้องซื้อทั้งจังหวัด
ส่วนวิธีแก้ปัญหาคอรัปชั่นส่วนใหญ่ต้องการให้มีบทลงโทษคนคอรัปชั่นให้หนักขึ้น , ต้องเลือกนักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม , ตั้งองค์กรตรวจสอบการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเข้มข้น และ ให้เริ่มที่ประชาชนไม่รับ ไม่เรียกร้องเงินจากนักการเมือง
ด้านการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ชาวบุณฑริกเสนอว่าควรให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เช่น เรียนฟรีถึงปริญญาตรี , ให้เก็บภาษีคนรวยให้มากขึ้น และสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีมรดก
ชาวอำเภอบุณฑริกมีความฝันอยากเห็นอำเภอตนเองในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นอำเภอสีเขียว ถนนสวยเดินทางสะดวก ปลอดภัย ไร้คอรัปชั่น , อยากมีสนามบินนานาชาติช่องตาอู เพื่อการคมนาคมขนส่งท่องเที่ยวที่สะดวก , มีสะพานข้ามแม่น้ำโดม 2 สะพาน เพื่อลดการจราจรติดขัดในอนาคต และต้องการเห็นจังหวัดอุบลราชธานีในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นจังหวัดจัดการตนเอง , เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว , เมืองสีเขียว มีเสาไฟฟ้าที่สูงกว่าเดิมหรือลงใต้ดินเพื่อทัศนียภาพที่สวยงามและสะดวกกับงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ไม่ต้องมีคนคอยดันสายไฟฟ้าให้ขบวนเทียนผ่าน , อยากเห็นรถไฟวารินชำราบ-ช่องตาอู , คนอุบลฯรู้จักคิด รู้จักให้อภัย ใฝ่คุณธรรม
ปัญหาในพื้นที่ที่ต้องเร่งแก้ไขส่วนใหญ่เห็นว่า ถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อมากมาย การคมนาคมขนส่งไม่สะดวก , ปัญหายาเสพย์ติดแพร่ระบาดในหมู่เยาวชน นอกจากนั้นก็มีปัญหาราคาสินค้าเกษตร ยางพารา ข้าว มันสำปะหลังตกต่ำ , นักเรียนเรียนไม่จบการศึกษาออกกลางคัน , ขาดแคลนน้ำและไฟฟ้าทางการเกษตร ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นต้น
การจัดเวทีครั้งนี้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้ประสานงานสถานที่ ผู้เข้าร่วม และงานธุรการต่าง ๆ , อาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี เป็นผู้ช่วยวิทยากรกระบวนการ คอยแนะนำและอำนวยความสะดวกประชาชนในการกรอกแบบฟอร์มต่าง ๆ และช่วยรวบรวมข้อมูลบันทึกข้อมูลจากเวที คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯเป็นวิทยากรกระบวนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้ชำนาญการและผู้ช่วยประจำตัวสปช.อุบลราชธานีดำเนินการบันทึกภาพเขียนข่าวเก็บข้อมูลและเผยแพร่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีและเทศบาลนครอุบลราชธานีอนุเคราะห์พาหนะเดินทางของคณะทำงาน สมาชิกสภาปฏิรูปจังหวัดอุบลราชธานีได้วางแผนในการลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนทั้ง 25 อำเภอ ครั้งต่อไปจะเป็นเวทีระดับอำเภอที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ที่ห้องโสตทัศนศึกษาอำเภอพิบูลมังสาหาร ในวันที่ 13 มีนาคม 2558 ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางเวปไซต์ www.เสียงประชาชนอุบลราชธานี.com หรือหมายเลขโทรศัพท์ประจำศูนย์ประสานงานสปช.อุบลฯ 091 470 5921
อนึ่งการจัดเวทีครั้งนี้คณะกรรมาธิกาวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสภาปฏิรูปแห่งขาติ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประจำจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ทางสมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่นอุบลราชธานีได้มาถ่ายทอดเสียงออกอากาศสดโดยสถานีวิทยุ 29 สถานีอีกด้วย