กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--
นายสุธี ผ่องไพบูลย์ ในฐานะทนายความ ของนายฉาย บุนนาค เปิดเผยว่า ได้เป็นตัวแทนของนายฉาย บุนนาคเพื่อร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีต่อ
1. นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
2. บริษัท กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และในฐานะเจ้าของเว็ปไซต์ www.bangkokbiznews.com
3. นายจักรกฤษ เพิ่มพูน ในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษราหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
4. นางสาวดวงกมล โชตะนา ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และในฐานะผู้อำนวยการเว็ปไซต์และบรรณาธิการข่าวออนไลน์เว็ปไซต์ www.bangkokbiznews.com
5. นางเบ็ญจวรรณ เผ่าจินดามุข ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
6. นายสมสกุล เผ่าจินดามุข ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
7. นายเฉลา กาญจนา บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ
8. นายนิติราษฎร์ บุญโย ผู้ดูแลเวปไซต์ www.bangkokbiznews.com
ที่ได้เขียนและตีพิมพ์บทความลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เว็ปไซต์ www.bangkokbiznews.com และเฟสบุ๊คของตนที่ใช้ชื่อว่า “Adisak Limparungpatanakij” ในระหว่างวันที่ 4 ถึง 11 มกราคม 2558 กล่าวหานายฉาย บุนนาค ว่าเป็นผู้วางแผน และอยู่เบื้องหลังการใช้ Nominee เทคโอเวอร์บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาขน) หรือ NMG
โดย นายอดิศักดิ์ ได้เขียนบทความเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2558 โดยมีใจความส่วนหนึ่งว่า “ค่อนข้างแน่ชัดว่าปฏิบัติการล่าสุดที่มี “ฉาย บุนนาค” เป็นผู้วางแผนและเดิมเกมอย่างแยบยลมานานพอสมควร โดยคิดการใหญ่จะเข้าควบคุมกิจการหรือเทคโอเวอร์บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ที่มีการปล่อยข่าวลือหยั่งกระแสในตลาดหุ้นมาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือนแล้ว..... ยังไม่รวมรายชื่อ “นอมินี” ของกลุ่มฉาย บุนนาคที่ดอดเข้ามาเก็บหุ้น NMG ไปเป็นจำนวนมากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา “หากฉาย บุนนาค” และกลุ่มนอมินียังทำเป็นนิ่งเฉยเหมือนกับว่าเป็นคนละพวกกัน จะเข้าข่ายกระทำความผิดกฎของ ก.ล.ต.ที่เรียกว่า Acting in Concert ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อบุคคลอื่นในการหลีกเลี่ยงการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์......”
และได้เขียนบทความเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2558 มีใจความส่วนหนึ่งว่า “อยากให้ลองไปอ่านกฎของ ก.ล.ต.ว่าด้วยพฤติกรรม Acting In Concert เช่น การอำพรางแยกซื้อหุ้นแบบพร้อม ๆ กันหลายคนในหลาย ๆ ช่วงเวลา, การใช้เงินจากแหล่งเดียวกัน, การตกลงเข้าซื้อหุ้นเดียวกัน ฯลฯ เพื่อครอบครองกิจการของผู้ถือหุ้นเดิม พฤติกรรมข้างต้นของกลุ่มฉาย บุนนาค และพวกในการเข้าซื้อหุ้น NMG จนถึง 40% จะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดหรือไม่
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ควรจะลงไปสอบสวนเชิงลึกจริงจังเสียที รวมไปถึงพฤติกรรมการวิธีการเพิ่มทุนและซื้อขายหุ้นแบบแปลก ๆ ที่ใช้หุ้นบริษัทขนาดเล็ก ๆ ราคาเศษสตางค์ที่ “ก๊วนปั่นหุ้น” ก๊วนใหญ่เหล่านี้ยึดครองตลาดหุ้นอยู่ในปัจจุบันได้สร้างความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากถึงเวลากวาดล้างให้ตลาดหุ้นสะอาดเสียทีเถอะ”
ซึ่งข้อเขียนดังกล่าว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่า นายฉาย บุนนาค เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีที่บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยเป็นผู้วางแผนและมีจุดประสงค์เข้าควบคุมกิจการ หรือครอบงำกิจการ (เทคโอเวอร์) NMG กับทั้งข้อเขียนยังเข้าใจได้อีกว่า นายฉาย บุนนาค ได้ให้ตัวแทน (นอมินี) เข้าซื้อหุ้นของ NMG ซึ่งอาจเป็นความผิดตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.12/2554 เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ Acting in Concert และมีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พุทธศักราช 2535 มาตรา 247 (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) อีกด้วย ทั้งที่ความจริงนายฉาย บุนนาค ไม่มีส่วนเกี่ยวกับข้องบริษัท SLC ตลอดจนไม่เคยเข้าซื้อหุ้นของ NMG หรือมอบหมายให้ตัวแทนเข้าซื้อหุ้น NMG ข้อเขียนของนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ จึงล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น ทำให้นายฉาย บุนนาค เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และถูกมองว่าเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ เป็นข้อหาหรือฐานความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 326 และ มาตรา 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช 2550 มาตรา 14(1) และ 15
นายสุธีกล่าวว่า เพื่อรักษาชื่อเสียงของครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกกระทำ และถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ติดต่อกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ตนจึงได้รับการมอบหมายจากนายฉาย บุนนาค ในการร้องทุกข์กล่าวโทษ นายอดิศักดิ์ และพวก ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับ