กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สมศ. โชว์ตัวอย่างโรงเรียนขนาดเล็กขาดโอกาส ผลประเมินดีมาก 3 รอบ พร้อมแนะเป็นโรงเรียนตัวอย่างสู่เป้าหมายเพื่อยกระดับการศึกษาไทย
สมศ. ชี้ คุณภาพของสถานศึกษา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงเรียนขนาดเล็กหรือใหญ่ แนะสถานศึกษาควรตื่นตัวต่อการประเมิน พร้อมนำผลประเมินไปปรับใช้ เพื่อให้การศึกษาไทยพัฒนาขึ้น
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เผยผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา มีสถานศึกษาที่ได้รับผลประเมินดีมากทั้ง 3 รอบ จำนวนเพียง 354 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.10 โดยแบ่งเป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก ได้ผลประเมินดีมากทั้ง 3 รอบ 127 แห่ง จากจำนวน 22,985 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.55 และสถานศึกษาขนาดใหญ่-ใหญ่พิเศษ ได้รับผลประเมินดีมากทั้ง 3 รอบ จำนวน 148 จากทั้งหมด 2,072 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.14 ซึ่งผลการประเมินสะท้อนให้เห็นว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัวต่อการประเมินของ สมศ. สะท้อนคำถามที่ว่าเหตุใดการศึกษาไทยจึงยังไม่พัฒนา ดังนั้น สถานศึกษา จึงควรนำผลกระเมินไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการศึกษาของแต่ละสถาบัน เพื่อการพัฒนามาตรฐานการศึกษาไทย ทั้งนี้ โรงเรียนขนาดเล็กหรือใหญ่สามารถมีคุณภาพเท่าเทียบกันได้ ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของบุคลากร และวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ดังเช่นโรงเรียนบ้านเหล่ายาว จ. ลำพูน ซึ่งเป็นโรงเรียนเล็กในชุมชน เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับการประเมินดีมากทั้ง 3 รอบ เนื่องจากคุณครูให้ความสำคัญ ชุมชนให้ความร่วมมือ ขณะที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ของภาคเหนือก็ได้ผลประเมินดีมาก 3 รอบเช่นกันจากตัวชี้วัดเดียวกัน จะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะเล็กหรือใหญ่หากให้ความสำคัญกับการประเมินและนำไปปรับใช้ ก็สามารถพัฒนาโรงเรียน ให้มีคุณภาพ และสร้างอนาคตของชาติที่มีคุณภาพได้เช่นกัน
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ภาพรวมของการศึกษาไทยจากการประเมิน 3 รอบที่ผ่านมาในรอบ 15 ปี ในระดับประถม – มัธยม มีสถานศึกษาทั่วประเทศทั้งหมด 32,099 แห่ง พบว่ามีจำนวนสถานศึกษาที่ได้ผลประเมินดีมากทั้ง 3 รอบ จำนวน 354 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.10 โดยแบ่งเป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก ได้ผลประเมินดีมากทั้ง 3 รอบ 127 แห่ง จากจำนวน 22,985 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.55 และสถานศึกษาขนาดใหญ่-ใหญ่พิเศษ ได้รับผลประเมินดีมากทั้ง 3 รอบ จำนวน 148 จากทั้งหมด 2,072 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.14 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า โรงเรียนระดับขั้นพื้นฐาน ขนาดเล็ก บางโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีครูผู้สอนจำนวน เพียง 5-10 คน มีนักเรียนจำนวนไม่มาก หลายโรงเรียนของประเทศไทยได้รับผลประเมินดีมากติดต่อกันทั้ง 3 รอบ ในช่วง 15 ปีผ่านมา ดังนั้นคุณภาพของสถานศึกษานั้น จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดเล็กหรือใหญ่ อยู่ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งในทุกโรงเรียนสามารถพัฒนาและนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิผลกับการเรียนการสอนของสถานศึกษาของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษานั้น สมศ. ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดโดยให้มีการประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งในทุกๆ 5 ปี ให้สถานศึกษารวบรวมเอกสาร หลักฐานที่เป็นฐานข้อมูลให้ผู้ประเมินใช้เพื่อการตรวจสอบให้ได้สภาพความเป็นจริงของสถานศึกษา และสามารถประเมินออกมาได้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ผ่าน 12 ตัวชี้วัดเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพมาตรฐาน ได้แก่ 1) ผู้เรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี 2) ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ 3) ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 4) ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น 5) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน 6) ประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 7) ประสิทธิภาพของการบริหารการจัดการและการพัฒนาสถานศึกษา 8) พัฒนาการของการประกันคุณภาพภายในโดยสถานศึกษาและต้นสังกัด 9) ผลการพัฒนาให้บรรลุตามปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา 10) ผลการพัฒนาตามจุดเน้นและจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา 11) ผลการดำเนินงานโครงการพิเศษเพื่อส่งเสริมบทบาทของสถานศึกษา 12) ผลการส่งเสริมพัฒนาสถานศึกษาเพื่อยกระดับมาตรฐาน รักษามาตรฐานและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวสรุป
นาย นิคม พรหมอนันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเหล่ายาว กล่าวว่า กล่าวว่า โรงเรียนบ้านเหล่ายาวเป็นโรงเรียนในชุมชมที่นักเรียนส่วนมากเป็นชาวยอง ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของจังหวัดลำพูน ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 135 คน เปิดสอนตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งโรงเรียนบ้านเหล่ายาวถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนเดียวของจังหวัดลำพูนที่ได้รับการประเมินจาก สมศ. ดีมากทั้ง 3 รอบ ซึ่งผลสำเร็จทั้งหมดเกิดจากการตื่นตัวของครูในโรงเรียนที่มีต่อการประกันคุณภาพภายใน โดยจะมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา จะต้องมีการวางแผน กำหนดวัตถุประสงค์ และเวลาความสำเร็จของทุกกิจกรรมทั้งในด้านวิชาการ และด้านการเรียน ทุกอย่างต้องมีความเป็นกระบวนการ และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาครูและบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเน้นการจัดการของผู้บริหารให้มีระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพโดยที่บุคลากรและครูทุกระดับชั้นต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่ทุกโรงเรียนควรทำ อีกสิ่งสำคัญคือต้องรู้จักทำงานให้เป็นประจำวัน ซึ่งจะทำให้การเตรียมตัวรับการประเมินจาก สมศ. ไม่ยุ่งยากอย่างที่เป็นอยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่ว่าคนยังไม่เข้าใจถึงข้อดีของการประเมิน และไม่มีการเตรียมความพร้อมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่มาเร่งทำในช่วงเวลาที่โรงเรียนใกล้จะถูกประเมินแล้ว เพราะการประเมินเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติย้อนดูว่า สิ่งที่ทำนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ แล้วเราควรต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งความสำเร็จของโรงเรียนบ้านเหล่ายาว ถึงแม้บ้านเหล่ายาวจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและมีครูเพียงแค่ 11 คน แต่ครูทุกคนล้วน ตื่นตัวต่อการประเมิน ด้วยการอาศัยตัวชี้วัด ทั้ง 12 ข้อ และนำข้อแนะนำของ สมศ. มาเป็นพื้นฐานในการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการพัฒนาการเรียนการสอนของครูในโรงเรียน ตลอดจนอาศัยความมีส่วนร่วมตั้งแต่ ครู ผู้ปกครอง กรรมการ ผู้นำหมู่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ จึงทำให้โรงเรียนมีความใกล้ชิดกับชุมชน คุณครูมีความสุขในการสอน จึงสอนได้อย่างมีคุณภาพ