กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--BRAINASIA COMMUNICATION
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ 15 องค์กร จัดเสวนา เรื่อง “ ใบอนุญาต EIA...การปฏิรูปสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” จัดโดย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (สผ.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้ามหานคร, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท, กรมชลประทาน, กรมที่ดิน,กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อสรุปข้อเสนอแนะแก่ คสช.ในการแก้ปัญหาใบอนุญาต EIA (Environmental Impact Assessment) และรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมก่อสร้างและบรรยากาศการลงทุนของประเทศ นับเป็นพลังความร่วมมือในการเสริมสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมควบคู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ
ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรหลายภาคส่วนที่มาร่วมเวที เปิดมุมมองและข้อคิดเห็นที่น่าสนใจในการแก้ปัญหา ใบอนุญาต EIA รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กล่าวว่า “ในภาพรวมของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นการจัดการบริหารใน รูปแบบแนวดิ่ง (Top-down approach) คือส่วนราชการจะมีสิทธิขาดในการตัดสินใจ ขณะที่การส่งเสริมองค์ความรู้และธรรมาภิบาลในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) และพิจารณา ใบอนุญาต EIA ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนยังมีน้อย ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมามีความขัดแย้ง เกิดปัญหาความแตกแยกในสังคมชุมชน และผลกระทบต่างๆ มากมายตามมา ต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ทางสังคม วัฒนธรรม เช่น การอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่น ปัญหาอาชญากรรม ก่อให้เกิดปัญหาการดำรงชีพจากผลกระทบที่มีต่อฐานทรัพยากร และที่สำคัญคือทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่
ส่วนในภาคธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้น ปัญหาอุปสรรคของใบอนุญาต EIA และรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาจากคุณภาพของบุคคลากร ขั้นตอนประสิทธิภาพในการพิจารณา ความโปร่งใสและการบังคับใช้กฏหมาย ส่งผลเสียต่อการบรรยากาศการลงทุน และขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ และประชาคมอาเซียน สำหรับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสมีประสิทธิภาพในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจะลงทุน เช่น ระบบขนส่งทางราง รถไฟฟ้า 11 สาย ระบบบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีการออกแบบ พัฒนาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เกิดประสิทธิผลต่อโครงการและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมากที่สุด”
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า “ในแต่ละปีมีคอนโดมิเนียมและโรงแรมที่ต้องขออีไอเอ จำนวนเฉลี่ย 500 -600 โครงการ การรวมศูนย์ในการพิจารณา EIA ทำให้เกิดความล่าช้า ในการดำเนินงานพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมนั้น ที่ดินทั้งหมดจะต้องโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบการก่อนที่จะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (สผ.)เพื่อขออีไอเอ จึงนับเป็นความเสี่ยงทั้งราคาที่ดินที่สูงขึ้น และความเสี่ยงหากไม่ได้รับอนุมัติใบอนุญาต EIA โดยผูกมัดให้เจ้าของโครงการต้องซื้อที่ดินก่อน ในการพิจารณาควรมีมาตรฐานแนวทาง โครงสร้างการพิจารณาหรือ Code of Conduct ตั้งแต่ระยะเวลา วิธีการอนุมัติ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเภทที่ยื่นขออนุมัติ การพิจารณา EIA ควรเน้นเฉพาะตึกสูงขนาดใหญ่ ควรยกเว้นการขออนุญาตกับโครงการขนาดเล็ก พื้นที่ไม่เกิน 10,000 ตร.ม.และความสูงไม่เกิน 8 ชั้น ที่ไม่เข้าข่ายสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ”
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ความเห็นว่า ” เอกสารขอ EIA มีจำนวนมากที่ยื่น สผ.ควรเป็นซอฟท์ไฟล์เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณา ด้าน E-Library ของสผ.ก็ควรพัฒนาให้เจ้าของโครงการได้แชร์ข้อมูลกันได้ เพื่อสร้างเรียนรู้จากประสบการณ์จากผู้ที่เคยยื่นมาแล้ว ระยะเวลาในการพิจารณาใบอนุญาตยาวนานเกินไป ไม่สอดคล้องกับภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทยจะอ่อนแอลง บางครั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม( คกช.)ให้ความเห็นส่วนบุคคล โดยขาดเกณฑ์พิจารณาที่เป็นวิทยาศาสตร์และความชำนาญทางวิชาชีพในโครงการนั้นๆ ”
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า “ โครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 5 - 6 แสนล้านบาท ยังไม่รวมโครงการภาครัฐ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม( คกช.) มักมีความเห็นที่หลากหลาย และล่าช้าในการพิจารณาใบอนุญาตEIA และรายงานต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เวลาที่ผ่านไปส่งผลให้หลายโครงการอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคต้องแบกภาระดอกเบี้ยและต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นผลกระทบต่อประชาชนผู้ซื้อ นอกจากนี้ควรมีการติดตามตรวจสอบว่าผู้ที่ผ่าน EIA แล้วนั้นมีการดำเนินงานตามที่ได้เสนอไว้หรือไม่ ”
นายอัยยณัฐ ดินอภัย ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “จุดมุ่งหมายของการเสนอขออนุญาตและทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเสริมศักยภาพและความยั่งยืนให้กับโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐได้ลงทุน และในอนาคตจะมีโครงการร่วมทุนกับภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมให้การดำเนินโครงการที่มีธรรมาภิบาล โดยมิได้คำนึงแต่ผลกำไรเพียงด้านเดียว แต่นำเอาข้อห่วงใยในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาการออกแบบ การก่อสร้างและการบริหารจัดการ ปัญหาความล่าช้าของการพิจารณาEIA สำหรับโครงการขนาดใหญ่จะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการจ้างงาน ต้นทุน การบริหารโครงการก่อสร้าง การเปิดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และรายได้ที่จะเข้ามาสู่โครงการ “
นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “ทั้งๆที่การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อโครงการ สังคมและสิ่งแวดล้อม แต่การพิจารณาใบอนุญาต EIA และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่คงเส้นคงวา ขาดความต่อเนื่อง ขาดความเข้าใจในสาระเนื้องานและไม่ให้โอกาสเจ้าของโครงการเข้าชี้แจงด้วย สำหรับการพิจารณาโครงการสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างพื้นฐาน ควรมีกรรมการเฉพาะกิจที่มีความเชี่ยวชาญ และจัดทำมาตรฐาน หรือ check list จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานพิจารณา EIA “
ข้อเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขใบอนุญาต EIA และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นายไกร ตั้งสง่า ประธานคณะกรรมการสวัสดิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวสรุปถึงข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาใบอนุญาต EIA ที่มีผลกระทบต่อการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1.แก้ปัญหาความล่าช้า ควรกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาใบอนุญาต EIA ให้ชัดเจน 4 - 6 เดือน ความล่าช้าทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากต้นทุนและราคาวัสดุที่สูงขึ้น หรือภาวะตลาดผู้ซื้อเปลี่ยนไปแล้ว บางโครงการสาธารณูปโภค เช่น รถไฟสายบางซื่อ-มักกะสัน ใช้เวลาพิจารณาถึง 2 -3 ปี บางโครงการยาวไปถึง 5 ปี
2. คุณภาพของบุคลากร และมาตรฐานการพิจารณาอนุมัติ ควรมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก คกช.เพื่อให้ได้ผู้ความรู้ในโครงการและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พัฒนาขั้นตอนการพิจารณา, ในการพิจารณาโครงการที่มีลักษณะที่ต่างกัน ควรแยกกลุ่มบุคคลากรที่พิจารณา EIA อาคารชุด ออกจากโครงการสาธารณูปโภค, มีการเปลี่ยนบุคคลากรทำให้การพิจารณาโครงการขาดความต่อเนื่อง
3. รัฐควรกระจายอำนาจการพิจารณาEIA สู่ท้องถิ่น เพื่อลดภาระของ คกช. จะช่วยลดภาระลงได้ถึง 40 %
4.เร่งทบทวนการทำงานของหน่วยงานที่พิจารณาอนุมัติโครงการให้ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่เลือกปฏิบัติ เช่น การขุดเจาะปิโตรเลียมประชิดชุมชนบนเกาะและชายฝั่ง อีกทั้งตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งวางไข่และเติบโตของปลาหลากหลายสายพันธุ์ หน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุญาตให้มีการขุดเจาะสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม กลับเพิกเฉยที่จะสั่งระงับโครงการ เพื่อให้มีการทบทวนตรวจสอบตามการเรียกร้องเป็นเวลากว่า 4 ปี ของประชาชนในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ
5. แก้ไขระเบียบเงื่อนไขกฎหมาย เพื่อการทำ EIA ที่สมบูรณ์ เช่น บริษัทหรือองค์กร ผู้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องมีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานและองค์กรที่มีความเป็นกลางที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ ปัจจุบันบริษัทผู้รับศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในหลายโครงการ ถูกมองว่าไม่ค่อยมีความเป็นกลาง
6. ภาครัฐต้องทบทวนทำความเข้าใจว่า EIA ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน
ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 66 และ 67 ที่กำหนดว่า ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลย์และยั่งยืน เช่นเดียวกับหลักสิทธิมนุษยชน กฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ได้นิยามของสิทธิมนุษยชนครอบคลุมทั้งสิทธิ, เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
ภาพยืนหมู่ (จากซ้ายไปขวา)
1.สมเกียรติ สิริพิทักษ์เดช
กรมโยธาธิการและผังเมือง
2.ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ที่ปรึกษา สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
3.ไกร ตั้งสง่า
ประธานคณะกรรมการสวัสดิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
4.ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต
นายกสมาคมอาคารชุดไทย
5.อัยยณัฐ ดินอภัย
ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
6.อธิป พิชานนท์
นายกสมาคมธูรกิจบ้านจัดสรร
7. ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์
อดีตนายกสมาคมอาคารชุดไทย
8. พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์
นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
9.พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ
นายกสมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์