กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--โรงเรียนรุ่งอรุณ
โรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ ๙ “การศึกษาสร้างฅน ศิษย์องค์ภูมิพล รวมพลสร้างชาติ” วันเสาร์ที่ ๑๔ – วันอังคารที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เชิญชมนิทรรศการการจัดการศึกษาแบบบูรณาการสู่ชีวิต “การศึกษา เพื่อการแบ่งปัน ไม่ใช่การศึกษาเพื่อการแข่งขัน” และเวทีพูดคุย "ขอถามพี่ป้าน้าอา...เรื่องอ่าวระยองของเรา"
โรงเรียนรุ่งอรุณ มีความเชื่อมั่นในการจัดการศึกษาแบบบูรณาการสู่ชีวิตโดยมีเป้าหมายเพื่อจัด “ การศึกษาเพื่อการแบ่งปัน ไม่ใช่การศึกษาเพื่อการแข่งขัน” และเป็นการศึกษาที่สามารถขยายผลจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยใช้หลักคิดใหม่ในการจัดการศึกษาสู่ศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อพัฒนามนุษย์ทุกช่วงวัย ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบวิถีรุ่งอรุณที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน อาทิ การเรียนรู้จากวิถีกินอยู่ ดู ฟังเป็นของเด็กปฐมวัย ตลอดจนการเรียนรู้ผ่านการสืบค้น ทดลอง ผ่านโครงงาน(PBL) ของนักเรียนประถม ไปจนถึงในระดับมัธยมที่ผู้เรียนเรียนรู้ทั้งความรู้ในวิชาหลัก และเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านสถานการณ์ทางสังคมและสถานการณ์โลก
ในเวลา ๑๕.๓๐-๑๗.๐๐ น. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ สายศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ จะจัดเวทีพูดคุย "ขอถามพี่ป้าน้าอา...เรื่องอ่าวระยองของเรา" เป็นเวทีพูดคุยที่นักเรียนรวบรวม วิเคราะห์ ข้อมูลความรู้จากการศึกษาข้อมูลจากพื้นที่ และนำมาแกะรอยความรู้จากแหล่งความรู้เพิ่มเติม จากนักวิชาการ และผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเล
ผู้ร่วมพูดคุย
๑.ผศ. ดร. เพ็ญใจ สมพงษ์ชัยกุล ภาควิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒.ดร. สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคม ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ภาคตะวันออก
๓.นาย สมยศ เฉียวกุล สมาชิกสภาเทศบาลนครแหลมฉบัง
๔.คุณ อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี ประธานกลุ่มประมงต้นแบบบ้านอ่าวอุดม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
๕.คุณ กมล เจียมทอง ผู้จัดการฝ่ายกองเรือ บริษัท เจ. มารีน เซอร์วิส จำกัด
๖.นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนรุ่งอรุณ สายศิลป์ จำนวน ๒๐ คน
ซึ่งเวทีพูดคุยนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาในโครงงาน เรื่อง “นิเวศเฉพาะของอ่าวระยองและการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากนิคมอุตสาหกรรมและอุบัติเหตุน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นในทะเล บริเวณเกาะเสม็ด” และเป็นการเรียนในวิชาบูรณาการสังคมศึกษาและภูมิปัญญาภาษาไทย
การเรียนรู้ในรูปแบบนี้ ผู้เรียนจะได้ทั้งความรู้ในวิชาหลัก และเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านสถานการณ์ทางสังคมและสถานการณ์โลกและเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงเข้าหาตนเองอย่างลึกซึ้ง จนเกิดความตระหนักถึงคุณค่า นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนและตอบโจทย์ของสังคมอีกด้วย