กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ดิอาจิโอ บริษัทเครื่องดื่มพรีเมี่ยมชั้นนำ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมบทบาทของสตรี มอบรางวัลแก่สื่อมวลชนที่ชนะการประกวดในโครงการ WOMEN’S EMPOWERMENT (WE) JOURNALISM AWARDS ประจำปี 2558 รางวัลสำหรับสื่อมวลชนที่มีบทบาทดีเด่นในการสร้าง ความแตกต่างให้กับสังคมผ่านการรายงานข่าวที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับสตรี ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง โดยพิธีมอบรางวัล WE จัดขึ้นที่เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง เมื่อเร็ว ๆ นี้
นางเจน ฮาร์วีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี (ประเทศไทย) หรือ DMHT กล่าวว่า “ดิฉันภาคภูมิใจในโครงการ WE Journalism Awards ที่ได้มีส่วนในการส่งเสริมศักยภาพสตรีทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยในปีนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของเราได้รับผลงานกว่า 250 ชิ้น จากสื่อมวลชนทั่วภูมิภาค ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อวิทยุและโทรทัศน์ สำหรับประเทศไทย DMHT ได้จัดการประกวดในระดับประเทศขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีด้วยผลงานอันน่าประทับใจที่เข้าร่วมถึง 33 ผลงาน สูงเป็นลำดับที่สามจาก 18 ประเทศที่เข้าร่วม ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย ต่างก็ให้ความสำคัญในการผลักดันประเด็นสิทธิสตรีสู่สาธารณชน เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมศักยภาพสตรี และเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในที่สุดดิอาจิโอรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ยกย่องและขอบคุณสื่อมวลชนที่ได้ร่วมกันตีแผ่ประเด็นปัญหาความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายให้สาธารณชนรับรู้ ผ่านรางวัล WE Journalism Awards ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ดิฉันขอขอบคุณสื่อมวลชนสำหรับความมุ่งมั่นนี้ และขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน”
รางวัล WE JOURNALISM AWARDS จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ ชี้แนะแนวทาง ส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในประเด็นเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพและบทบาทของสตรี ซึ่งการประกวดในปีนี้แบ่งออกเป็นหกสาขาประกอบด้วย บทความแห่งปี รายการโทรทัศน์และวิทยุแห่งปี บทความออนไลน์แห่งปี ภาพถ่ายแห่งปี สื่อมวลชนแห่งปี และสาขาใหม่องค์กรสื่อสารมวลชนแห่งปี โดยเปิดรับผลงานจากสื่อมวลชนในทุกแขนงจาก 18 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย กัมพูชา จีน (รวมฮ่องกง) อินเดีย อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น ลาว เลบานอน เกาหลีใต้ มาเลเซีย พม่า เนปาล ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ไต้หวัน เวียดนาม และไทย ทั้งนี้ ผู้ชนะในแต่ละสาขาจะได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัล 1,000 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 33,000 บาท) ส่วนองค์กรที่ชนะในสาขาองค์กรสื่อสารมวลชนแห่งปี จะได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล 3,000 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 99,000 บาท) เพื่อใช้ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับการส่งเสริมศักยภาพสตรี
ผลงานที่ได้รับรางวัลตีแผ่ประเด็นปัญหาสิทธิสตรีได้อย่างลึกซึ้งและมีพลัง โดยผลงานที่ได้รับรางวัลในสาขาบทความแห่งปีเป็นของ รุหิ คันธาริ (Ruhi Kandhari) นักข่าวหญิงของ เทเฮลก้า (Tehelka) นิตยสารข่าวจากประเทศอินเดีย จากบทความเรื่อง “How Women Pay the Price for Population Control” ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาการบังคับคุมกำเนิดเพื่อควบคุมจำนวนประชากรของอินเดีย ซึ่งสตรีที่มีฐานะยากจนจะได้รับการผ่าตัดคุมกำเนิด ทั้ง ๆ ที่พวกเธอไม่ยินยอม แต่คนที่ให้ความยินยอมคือสามีของพวกเธอ หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกระทำโดยพลการ ในหลาย ๆ ครั้งการผ่าตัดทำอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัด และบางคนถึงขั้นเสียชีวิต
รางวัลในสาขาสื่อมวลชนแห่งปี ตกเป็นของ เบก ซาจาก (Bec Zajac) สื่อมวลชนอิสระหญิงชาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นทั้งนักข่าว ผู้ดำเนินรายการวิทยุ และนักทำสารคดี โดยเธอได้รับรางวัลจากผลงานส่งเสริมสิทธิสตรีอย่างต่อเนื่องในรายการวิทยุของเธอ และจากบทความสี่ตอนที่เธอเขียน สำหรับเว็บไซต์ข่าว The Citizen ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของชั้นเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนนำร่องหลักสูตรความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากบทบาทหญิงชาย (gender-based violence) ซึ่งเป็นความพยายามของออสเตรเลียในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและความรุนแรงในครอบครัวในระยะยาว นอกจากนั้น บทความเรื่อง “Power and Gender: How Schools are Taking a Lead in the Campaign to End Violence Against Women” ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของ บทความดังกล่าวยังได้รับรางวัลบทความออนไลน์แห่งปีอีกหนึ่งสาขา
นิตยสารโว้ก อินเดีย จากประเทศอินเดีย ได้รับรางวัลองค์กรสื่อสารมวลชนแห่งปี จากแคมเปญ #VogueEmpower ที่จัดขึ้นในวาระครบรอบเจ็ดปีของนิตยสาร โดยร่วมมือกับผู้มีชื่อเสียงในสังคมอินเดียและระดับนานาชาติผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อดิจิทัล โซเชียลมีเดีย และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้สังคมอินเดียให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิสตรีในประเทศอย่างจริงจัง ตลอดจนระดมทุนให้กับ GiveIndia องค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสตรี พร้อมอุทิศพื้นที่ 62 หน้าในนิตยสารโว้ค อินเดีย ฉบับเดือนตุลาคม 2557 รวบรวมเรื่องราวของบุคคล 180 คนที่เข้าร่วมในแคมเปญนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ไปจนถึงเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงธรรมดาและผู้หญิงที่มีชื่อเสียงที่สามารถฝันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ และมีชีวิตที่เปี่ยมความหมาย จนถึงปัจจุบันแคมเปญนี้เข้าถึงผู้คนไปแล้วมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก
รายชื่อสื่อมวลชนที่ได้รับรางวัล WE Journalism Awards ประจำปี 2558 มีดังต่อไปนี้
สาขาบทความแห่งปี – รุหิ คันธาริ (Ruhi Kandhari) จากนิตยสารเทเฮลก้า (Tehelka) ประเทศอินเดีย
ผลงาน – How Women Pay The Price For Population Control
สาขารายการโทรทัศน์และวิทยุแห่งปี – เพิร์ล มาเรีย ฟอส (Pearl Maria Forss) จากสำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชีย (Channel NewsAsia) ประเทศสิงคโปร์
ผลงาน – Women Fight Back
สาขาบทความออนไลน์แห่งปี – เบก ซาจาก (Bec Zajac) สื่อมวลชนอิสระจากประเทศออสเตรเลีย
ผลงาน – Power And Gender: How Schools Are Taking A Lead In The Campaign To End Violence Against Women
สาขาภาพถ่ายแห่งปี – อัลทาฟ ควาดรี (Altaf Qadri) จากสำนักข่าวเอพี (Associated Press) ประเทศอินเดีย
ผลงาน – She Sought Good Life In Delhi, But Found Trash
สาขานักสื่อสารมวลชนดีเด่นแห่งปี – เบก ซาจาก (Bec Zajac) สื่อมวลชนอิสระจากประเทศออสเตรเลีย
สาขาองค์กรสื่อสารมวลชนแห่งปี – นิตยสารโว้ค อินเดีย (Vogue India)
รางวัล WE JOURNALISM AWARDS เป็นส่วนหนึ่งภายใต้พันธสัญญาโครงการพลังสตรี หรือ Plan W: Empowering Women Through Learning โครงการระดับโลกของดิอาจิโอ ที่ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงกว่า 2 ล้านคน ภายในปีพ.ศ. 2560 ผ่านการให้ความรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็น จนถึงปัจจุบัน โครงการนี้ได้ส่งเสริมศักยภาพสตรีไปแล้วกว่า 90,000 คน และสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนรอบข้างของผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการอีกกว่า 450,000 คน