กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ปตท.
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 3.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 3.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- นาย Michael Wittner หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Societe Generale คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลง5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใน 2 – 3 เดือนข้างหน้านี้เนื่องจากปัจจัยกดดันด้านอุปทานสืบเนื่องจากปริมาณสำรองอยู่ในระดับสูง กอปรกับความต้องการในไตรมาสที่ 2 ลดลงตามฤดูกาลจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง โดยมองว่าราคาจะปรับตัวลงแตะระดับต่ำอีกรอบภายในครึ่งปีแรก
- Platts รายงานแผนกำหนดส่งมอบน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตทะเลเหนือ Brent, Forties, Oseberg และ Ekofisk (BFOE) สำหรับเดือน เม.ย. 58 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 31,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 960,000 บาร์เรลต่อวัน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 448.9 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 9 และแตะระดับสูงสุดในรอบ80 ปี
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอนสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 มี.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลงจากสัปดาห์ก่อน 43,051 สัญญา มาอยู่ที่187,086 สัญญา
- สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นรายงานยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน (Core Machinery Orders) ในเดือน ม.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 1.7% บ่งบอกว่าบริษัทยังคงลังเลที่จะเพิ่มงบลงทุน (Capex) เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจที่ยังขาดความชัดเจน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Baker Hughes Inc บริษัทให้บริการด้านขุดเจาะน้ำมันดิบรายงานผลสำรวจจำนวนหัวขุดน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ Oil&Gas Rig ทั่วสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มี.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 75 แท่น หรือ ลดลงจากปีก่อน 600 แท่น มาอยู่ที่ 1,192 แท่น โดย Oil Rig ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 64 แท่น มาอยู่ที่ 922 แท่น
- กรมศุลกากรของจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเบื้องต้นของจีนเดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.1% หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.8% อยู่ที่ระดับ 6.69 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 12 เดือนที่ระดับ 6.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเผยรายงานยอดสินค้าขายปลีก ( Retail Sales) ของจีนเดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปีก่อน 10.7% และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.8% ส่งสัญญาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนเติบโต
- หน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานดุลการค้าในเดือน ก.พ. 58 เกินดุล 6.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยอดส่งออกขยายตัว เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 48% สูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี สาเหตุหลักเกิดจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ ยอดส่งออกสู่สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21%
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น และ The international Energy Agency (IEA) ระบุอุปทานน้ำมันดิบอยู่ในภาวะล้นตลาด โดยที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังไม่มีทีท่าจะลดลง จนถังเก็บน้ำมันในประเทศใกล้เต็มส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ทั้งนี้ IEA รายงานอุปทานน้ำมันดิบโลกเดือน ก.พ. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 94 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งในไตรมาสที่ 2/58 ความต้องการใช้น้ำมันดิบจะลดลงเพราะโรงกลั่นเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงซึ่งจะทำให้ความต้องการน้ำมันดิบจาก OPEC ลดลงอยู่ที่ 28.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC ในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 30.22 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ผู้ค้าน้ำมันหลายรายกังวลต่อผลการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านจะบรรลุข้อตกลงบางส่วนในเดือน มี.ค. นี้ และจะสามารถสรุปข้อตกลงทั้งหมดได้ภายในเดือน มิ.ย. 58 ซึ่งอาจทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯหยุดดำเนินการที่รายงานโดยบริษัท Baker Hughes ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 14 และ นาย Ibrahim al-Muhanna ที่ปรึกษารัฐมนตรีน้ำมันซาอุดิอาระเบียเห็นว่าราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับสู่ระดับราคา 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และเชื่อว่าอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้ความเห็นข้างต้นบ่งชี้ซาอุดิอาระเบียมีนโยบายรักษาระดับการผลิตในปัจจุบัน ขณะที่สถาบันศึกษาเศรษฐกิจระหว่างประเทศแห่งเวียนนา (WIIW) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศ EUที่อยู่ในแถบตอนกลาง ตะวันออก และตอนใต้ของยุโรปในปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนประมาณ 2.7% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งยูโรโซนที่ 1.5%) แต่ไม่เท่าช่วงวิกฤตการเงินที่อัตราการขยายตัวของประเทศในกลุ่มนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า ประกอบกับในวันที่ 12 มี.ค. 58 สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ เห็นชอบขยายอำนาจการกู้ยืมเงินของสหรัฐฯไปอีก 13 เดือน โดยปราศจากเงื่อนไข (ปัจจุบันเพดานหนี้สหรัฐฯ อยู่ที่ 17.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทำให้สหรัฐฯไม่ต้องมาถกเถียงกันเรื่องเพดานหนี้จนผ่านการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือน พ.ย. 58 ทางเทคนิคคาดว่า ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.09 - 58.03เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 42.13 -47.55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.09-56.03 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก Petroleum Planning & Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียเผยปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินของอินเดียเดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100,000 บาร์เรล และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อโรงกลั่น Paradip (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) เริ่มเดินเครื่องเต็มที่ และบริษัท Sinopec ของจีนเผยแผนจะเพิ่มการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่น Hainan(กำลังการกลั่น 184,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน มิ.ย. 58 โดยจะส่งออกน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 255,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 510,000 บาร์เรล และ PAJ รายงานสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มี.ค. 58เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.4% มาอยู่ที่ 11.0 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามโรงกลั่น Koyali (กำลังการกลั่น 274,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Indian Oil Corp. (IOC) ปิดซ่อมบำรุงประจำปีเป็นเวลา 1 เดือน ระหว่างเดือน มี.ค - เม.ย. 58 จึงทำให้มีความจำเป็นต้องออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซินปริมาณ 120,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 27 - 29 มี.ค. 58 อีกทั้งรายงานประจำเดือนของกรมศุลกากรจีนเผยจีนส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในเดือน ก.พ. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 18.8% และลดลงจากปีก่อน 16.8% มาอยู่ที่ระดับ 420,000 บาร์เรล ทั้งนี้จีนนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากปีก่อน11% มาอยู่ที่ระดับ 2.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ IES ของสิงคโปร์รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มี.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 12.08 ล้านบาร์เรล โดยสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงจาก Platts รายงานโรงกลั่น Jurong (300,000 บาร์เรลต่อวัน ) ในสิงคโปร์จะกลับมาเปิดดำเนินการต้นเดือน เม.ย. 58 หลังจากปิดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 3 เดือน และ PAJรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มี.ค. 58 เกือบคงที่โดยเพิ่มขึ้น 8.5%มาอยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรล และ IES ของสิงคโปร์รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มี.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.93 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 11.19 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม PetroSA จากแอฟริกาใต้ ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณรวม 313,000 บาร์เรล จำนวน 2 เที่ยวเรือ ส่งมอบวันที่ 7-9 เม.ย.และ19-21 เม.ย. 58 ปัจจุบัน แอฟริกาใต้มีอุปสงค์ น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเนื่องจากประสบภาวะขาดแคลนไฟฟ้ารุนแรงที่สุดตั้งแต่ปี 2551 และ JBC เผยปริมาณความต้องการน้ำมันดีเซลในบราซิลแข็งแรงเนื่องจากปัญหาโรงกลั่นภายในประเทศ ส่งผลให้มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2558 คาดการณ์ว่าปริมาณนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปสุทธิจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50,000 บาร์เรล นอกจากนั้น Petrolimex ของเวียดนามซื้อน้ำมันดีเซล 0.05%S ปริมาณรวม 522,000 บาร์เรล จำนวน 2 เที่ยวเรือ ส่งมอบช่วง 1-5 เม.ย. 58 และ 6-10 เม.ย. 58 ทั้งนี้เวียดนามอาจมีการเปลี่ยนแปลงภาษีสิ่งแวดล้อม และภาษีนำเข้า ส่งผลให้ Petrolimex ชะลอการซื้อน้ำมันดีเซล ชนิด semi-term ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 และมาซื้อในตลาด spot แทน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล