กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เดินหน้าพัฒนางานด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรและติดตามประเมินผล บูรณาการร่วมระดับภูมิภาค ศึกษาวิจัยศักยภาพการผลิต การตลาดของสหกรณ์การเกษตร สู่การผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นางอัญชนา ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศก.7) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนางานด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรและติดตามประเมินผล เปิดเผยว่า ในปี 2558 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 – 12 ได้ร่วมมือกันดำเนินงานวิจัยแบบบูรณาการในหัวข้อเรื่อง “ศักยภาพการผลิต การตลาดของสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของนักวิจัยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 – 12 เกี่ยวกับงานวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรในระดับพื้นที่ และดำเนินการต่อเนื่องมาโดยลำดับเป็นปีที่ 3
สำหรับการบูรณาการงานวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพการผลิต การตลาดของสหกรณ์การเกษตร ในการผลิตสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและวิเคราะห์หาต้นแบบ (Prototype) สหกรณ์การเกษตร สำหรับการพัฒนาธุรกิจไปสู่ต่างประเทศ โดยคัดเลือกสหกรณ์การเกษตรประเภททั่วไปที่มีผลิตภัณฑ์ สินค้าที่โดดเด่นในระดับจังหวัด จำนวน 48 สหกรณ์ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 – 12 เพื่อวิเคราะห์ ความสามารถทางด้านการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้า และแนวทางการจัดการทางธุรกิจเพื่อขยายการดำเนินงานเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาระบบสหกรณ์ให้ดำเนินธุรกิจสหกรณ์โดยการเพิ่มบทบาทจากผู้ซื้อพืชผล สู่ขั้นตอนการแปรรูปและการส่งออก
ปัจจุบัน ตลาดอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ สหกรณ์การเกษตรมีโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้มากขึ้น โดยจะต้องพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนที่มีความแตกต่างและหลากหลาย คำนึงถึงกระแสความนิยมในสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิต การตลาดที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความทันสมัย เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลด้านสุขภาพของตนเองรวมทั้งสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง เช่น ประเทศสิงคโปร์นิยมบริโภคอาหารเสริม บำรุงร่างกาย อาหารออแกนิกส์ นิยมสินค้านำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าพร้อมปรุงและสินค้าเพื่อสุขภาพ ส่วนมาเลเซียนิยมบริโภคอาหารสดและแปรรูปเพื่อสุขภาพ และประเทศอินโดนีเซีย ประชากรร้อยละ 88 เป็นชาวมุสลิม กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงระดับบนมีความพร้อมที่จะใช้จ่ายสำหรับสินค้าพรีเมี่ยมในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะตลาดในกรุงจาการ์ต้า สุราบายา และเมดาน เนื่องจากเป็นศูนย์กลางในการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังเกาะอื่น ๆ ในอินโดนีเซีย เป็นต้น
นางอัญชนา กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยศักยภาพการผลิต การตลาดของสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยวิเคราะห์ศักยภาพการผลิต การตลาด สินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูป จะเน้นคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสหกรณ์การเกษตรที่เป็นอยู่ นำผลการวิจัยมาใช้เป็นต้นแบบของสหกรณ์การเกษตรในการเสริมสร้างมาตรการ แนวทางการดำเนินงาน การถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีให้แก่สมาชิกและผู้จัดการสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนะคติสู่การเติบโตสีเขียวอย่างยั่งยืน สามารถผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปตามความต้องการของผู้บริโภคในอาเซียน และภูมิภาคอื่นในตลาดโลกต่อไป