กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--หอการค้าไทย
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยถูกจับตามองเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลเป็นวงกว้างในภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังทั่วโลก อย่างที่ทราบกันดี ประเทศไทย พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งเมื่อปี 2557 ประเทศไทยส่งออกไปทั่วโลกถึงประมาณ 7.31 ล้านล้านบาท โดยมีตลาดสหรัฐฯ เป็นฐานการส่งออกอันดับ 2 (767,856.3 ล้านบาท) รองจากประเทศจีน อีกทั้ง ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งสด แปรรูป และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง รวมทั้งยังเป็นห่วงโซ่การผลิตของหลายๆ อุตสาหกรรมไปยังทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มการส่งออกสินค้าประมง ตลอดปี 2557 คาดว่ามีปริมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 560,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท โดยมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในทั่วราชอาณาจักร ประมาณ 1,626,235 คน (ที่มา กนร. ข้อมูล ณ วันที่25 กุมภาพันธ์ 2558)
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญและผลักดันการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์มาโดยตลอด ประกอบด้วย 1.Trafficking in Persons Report (TIPs Report) ปี 2014 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประเมินการดำเนินการด้านแรงงานของไทยโดยประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier3 โดยรายงานปี 2015 จะเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ โดยประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย การดำเนินคดีของภาครัฐ และการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งประเทศไทยได้จัดส่งรายงานชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฉบับแรกไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แล้ว และจะส่งฉบับสุดท้ายในเดือนมีนาคม 2558 นี้ โดยจะต้องตอบข้อคิดเห็นของสหรัฐฯ จากรายงานฉบับปี 2014 ได้ รวมทั้งความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา
2. Illegal Unregulated and Unreported Fishing (IUU) ประเทศไทยกำลังจะได้รับใบตักเตือน(ใบเหลือง) จากสหภาพยุโรปกรณีเรือที่ปฎิบัติไม่ถูกต้องโดยรวมถึงกรณีแรงงานด้วย ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขจะส่งผลให้ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปยังสหภาพยุโรปได้ 3. List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า สินค้าจากประเทศไทย 4 รายการมีการใช้แรงงานเด็ก และ/หรือแรงงานบังคับ ได้แก่ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม 4. การถูกโจมตีจากสื่อต่างๆ เช่น The Guardian , EJF และหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ระบุถึงการดำเนินการด้านแรงงานที่เลวร้ายของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในเรือประมง
นายภูมินทร์ กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ มาเป็นเวลามากกว่า 3 ปี ผ่านคณะกรรมการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ คณะกรรมการธุรกิจการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องภายใต้ความร่วมมือสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย
อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบ โดยได้มุ่งเน้นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ ตลอดจน การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาแรงงาน เป็นปัญหาที่สะสมมานานเป็นเวลา 10 กว่าปี และประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก และจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลชุดนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมทั้ง ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องของการค้ามนุษย์ขึ้นมาอีก 5 ด้าน ได้แก่ คณะอนุกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ , คณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ , คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานต่างด้าว , คณะอนุกรรมการแก้ไข้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(IUU Fishing) และ คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงาน ร่วมทั้งได้นำเสนอความคิดเห็น และขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ กับทางรัฐบาลมาเป็นอย่างดีโดยตลอด ซึ่งได้ปรากฎอย่างชัดเจนถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ และปัญหาแรงงานบนเรือประมง เพื่อให้หลุดพ้นจากการประเมินการดำเนินการด้านแรงงานของไทย TIPs Report. , IUU Fishing และ List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor (4 สินค้า) ได้แก่ อ้อย เครื่องนุ่งห่ม ปลาและกุ้ง และสื่อลามก)โดยรัฐบาลได้มีแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมาโดยตลอด อาทิ การดำเนินการจัดระเบียบ และเร่งพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา ณ ศูนย์ One Stop Service , การจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม โดยได้เห็นชอบแนวทางการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามที่ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทย และเห็นชอบให้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้แรงงานเวียดนามทำงานได้ 2 งาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานรับใช้แม่บ้าน พร้อมทั้ง เห็นชอบให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนามเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง MOU นำเข้าแรงงานเวียดนาม ในกิจการประมงและก่อสร้าง , การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล โดยให้มีการผ่อนผัน
ให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 (พร้อมทั้ง จดทะเบียนปีละ 2 ครั้ง)
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับระยะเวลาการกลับเข้าทำงานใหม่ของแรงงานต่างด้าวหลังทำงานครบกำหนด 4 ปีแล้ว จากเดิมกำหนดไว้ 3 ปี ให้ลดลงเหลือ 30 วัน เพื่อความต่อเนื่องของการทำงานและสอดคล้องกับระยะเวลาการเตรียมการจัดทำเอกสารเพื่อกลับเข้ามาทำงานใหม่ รวมทั้งแรงงานได้กลับไปเพื่อพักผ่อนอยู่กับครอบครัวหลังจากเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
“รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ยังคงต้องดำเนินการการแก้ไขอยู่และต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน”
นายภูมินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหาแรงงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องด้านการต่างประเทศที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มีการแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกับรัฐบาล อาทิ
1. การแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย
- ร่วมผลักดันนโยบายผ่อนผันกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สามารถใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือถึง 31 ธันวาคม 2559 พร้อมทั้ง ให้ กระทรวงแรงงาน ทำการศึกษาความจำเป็นในการใช้แรงงานไร้ฝีมือของอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจน การกำหนดคำนิยามของแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานมีฝีมือ เป็นต้น
- ร่วมศึกษาข้อมูลการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยในระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบอาชีวศึกษา การส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน เป็นต้น
- สนันบสนุนกรรมการหอการค้าไทย ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการผลักดันโครงการ และกฎหมายที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน อาทิ พรบ.ประมง , พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์, พรบ.ประกันสังคม , พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดจน การจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงของประเทศไทยโดยการจัดหาแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานบนเรือประมงภายใต้กรอบ MOU ร่วมกับคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน เป็นต้น
- สนับสนุนให้มีการลงทะเบียนรายงานตัวออนไลน์ของแรงงานต่างด้าวทุก 90 วัน ตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ตามมาตรา 37 (5) เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
- ร่วมผลักดันและดำเนินการในการแก้ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) และคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) อาทิ การเสนอการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลในระยะยาว เป็นต้น
- ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในประเด็นแรงงาน เพื่อความเข้าใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับนานาชาติร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
- แสดงความคิดเห็นในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และมาตรการรองรับ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการทำ IUU Fishing ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ เป็นต้น
3. การแก้ไขปัญหาแรงงานบนประมง
- กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเรือประมงในอินโดนีเซียตามที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง ฉบับที่ 56/PERMEN-KP/2014 ระงับการออกใบอนุญาตประมงต่างๆ เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีผลถึงวันที่
30 เมษายน 2558 รวมทั้งได้ออกกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 2/PERMEN-KP/2015 ห้ามใช้เครื่องมืออวนลาก (Trawls)
และอวนล้อม (Seine nets) ทำการประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบ
ต่อการประกอบธุรกิจประมงร่วมระหว่างผู้ประกอบการประมงไทย
- สนับสนุนการทำประมงร่วมกับต่างประเทศ ผู้ประกอบการควรเข้าไปร่วมทุน (Joint Venture) กับต่างประเทศ ตลอดจน พิจารณาหาแหล่งประมงในประเทศเป้าหมายอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เป็นต้น
- หอการค้าไทยร่วมเป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงอย่างยั่งยืน
4. ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบ
โดยการร่วมมือกับภาครัฐ (8 กระทรวง) ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการประเมินการดำเนินการด้านแรงงานของไทยโดยลดระดับ TIPs Report จาก Tier3 , IUU Fishing และ List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor ดังนี้
- เข้าร่วมงาน SIAL the Global Food Marketplace, and meet food professionals 2014 ณ ประเทศฝรั่งเศส
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย ในสหภาพยุโรป
- เข้าร่วมงาน Seafood Expo North America 2015 ณ กรุงบอสตัน สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 13 – 18 มีนาคม 2558
โดย Team Thailand ได้เตรียมการในการเปิดสัมมนาเพื่อชี้แจงปัญหาแรงงานในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก และการค้ามนุษย์
- เข้าร่วมงาน Seafood Expo Global & Seafood Processing Global 2015 ระหว่างวันที่ 21 – 23 เมษายน 2558
ณ กรุงบัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในต่างประเทศ ถึงขอกล่าวหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ และแรงงานบนเรือประมงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้ง ได้เผยแพร่มาตรการและกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งการแก้ไขปัญหาแรงงานนั้น ผู้ประกอบการเอกชนทุกภาคส่วนจะต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามนโยบาย และกฎหมายที่รัฐบาลกำหนด และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกัน
หากผู้ประกอบการติดขัดปัญหาแรงงาน ก็สามารถแจ้งมายังหอการค้าไทย ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกันต่อไป
“ด้วยความตั้งใจของ นายกฯ รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ และข้าราชการกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เป็นความมือและตั้งใจจริงอย่างที่ไม่เคยปรากฏในอดีต ซึ่งจะพาทางออกของการแก้ไขปัญหาในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาแรงงาน” นายภูมินทร์ กล่าว