กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ก.ล.ต.
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ผนึกความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้นปฏิบัติหน้าที่ในการลงมติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 ของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2558 สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยมีจุดยืนที่เห็นชอบตามหลักเกณฑ์ของนักลงทุนประเภทสถาบัน ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และ สมาคมบริษัทจัดการกองทุน เป็นต้น คือ การลงมติ “ไม่เห็นด้วย”ในประเด็นสาระสำคัญๆ ได้แก่ การมีวาระจร การมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชี และการแต่งตั้งกรรมการอิสระที่มีวาระการดำรงตำแหน่งมากกว่า 3 วาระ หรือ 9 ปี รวมทั้งการติดตามความคืบหน้าด้านนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นปีที่ 2 (ต่อเนื่องจากปี 2557)
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทุกปี (Annual General Shareholders' Meeting: AGM) ภายใน 120 วัน หลังปิดงวดบัญชีประจำปี ซึ่งพบว่าร้อยละ 90 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดกำหนดวันปิดงวดบัญชีประจำปีเป็นวันที่ 31 ธันวาคม ดังนั้นการจัด AGM จะอยู่ในกรอบเวลาภายในวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี โดยในปี 2558 นับเป็นปีที่ 10 ของการประเมินคุณภาพการจัด AGM ซึ่งตลาดทุนไทยมีการขยายตัวทั้งมูลค่าการซื้อขายและจำนวนหลักทรัพย์จดทะเบียน พร้อมกับเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ตลอดจนความซับซ้อนของแนวทางกลยุทธ์การบริหารงาน เกณฑ์การประเมินจึงต้องปรับให้ทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นรายบุคคล
ก.ล.ต. ยินดีที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่างผู้ลงทุนสถาบันและอาสาพิทักษ์สิทธิ์ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคลการมีบทบาทมากขึ้นของผู้ลงทุนสถาบัน และความร่วมมือกันของกลุ่มผู้ลงทุนต่างๆ ในลักษณะ “Collective Engagement” นั้นเป็นไปตามแนวทางสากล ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้การกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น
ก.ล.ต. ได้ริเริ่มให้มีการพัฒนาคุณภาพของการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี โดยมอบหมายให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคลรับผิดชอบดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งโครงการ “อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น” เป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่ประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานับว่าสมาชิกโครงการสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้บริหารบริษัทตระหนักถึงบทบาทและให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้น”
นายปลิว มังกรกนก รองประธาน IOD กล่าวว่า “ความสำคัญของการแสดงจุดยืนในการลงมติและการตั้งคำถามทางด้านการกำกับดูแลกิจการและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย มิใช่แค่ทำให้เกิดการประชุมสามัญประจำปีของบริษัทจดทะเบียนไทยมีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังนำไปสู่การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิของตนเองและการส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการในบริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่ของผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน ก็ผลักดันให้คณะกรรมการต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการและจัดให้มีการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการกำกับดูแลกิจการในภาพรวมและความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป”
นายประสัณห์ เชื้อพานิช นายกสภาวิชาชีพบัญชีฯ กล่าวว่า “เรื่องตัวเลขทางบัญชี สำคัญมากกับการวัดสัญญาณชีพของกิจการ ความเที่ยงตรง แห่งวิชาชีพจะมีส่วนช่วยบอกเตือนสังคม อย่างตรงไปตรงมาได้อีกทางหนึ่ง”
นายประทีป ตั้งมติธรรม อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า “ในนามของบริษัทจดทะเบียน ผมรู้สึกเป็นเกียรติ ที่ผู้ถือหุ้นจะเข้ามาร่วมประชุมสามัญประจำปี เหมือนเรามีนัดกันทุกปี ตามเกณฑ์ของการเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมฯ ตระหนักถึงข้อดี ผมเชื่อมั่นว่าผู้บริหารของทุกแห่ง ยินดีให้ความร่วมมือ และยินดีต้อนรับผู้ถือหุ้น”
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “การบริหารกองทุน นอกเหนือจากความเป็นมืออาชีพแล้ว พวกเรายังยึดมั่นด้านการกำกับดูแลกิจการ เป็นปัจจัยที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการลงทุน เพราะเชื่อมั่นว่า กิจการที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีและเป็นพลเมืองดีของสังคมจะมีความมั่นคง ยั่งยืนด้านผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น”
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กล่าวว่า “การลงทุนของ กบข. มีความระมัดระวังที่จะพิจารณาในทุกมิติ นอกเหนือจากการพิจารณาเรื่องผลตอบแทนให้กับสมาชิกแล้ว ข้อใหญ่ที่ทาง กบข. หยิบขึ้นมาพิจารณาลงลึกคือการกำกับดูแลกิจการ”
นายมงคล ลีลาธรรม นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า “การประชุมสามัญประจำปีเป็นจังหวะโอกาสอันดีที่ผู้ถือหุ้นจะได้พบปะกับผู้บริหาร และได้รับรู้ผลการดำเนินงานของหุ้นที่เข้าไปลงทุน ตลอดจนมีการซักถามในประเด็นต่างๆ ในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจ สมาคมฯ เองเป็นผู้ถือหุ้นในทุกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทุนไทย และใช้สิทธินี้ในการเข้าร่วมประชุม โดยมอบฉันทะให้อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น ทำหน้าที่เข้าร่วมประชุม ประเมินผลตามเกณฑ์ที่เป็นที่รับทราบกันระหว่างทุกบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว”