กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--ทีมประชาสัมพันธ์ สยามกรีนสกาย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมเมือง สยามกรีนสกาย หรือ Siam Green Sky ( Urban Agriculture Learning Center) แลนด์มาร์กแห่งใหม่ ณ ชั้นบนสุดของ (ชั้น 7) สยามสแควร์ วัน ภายใต้แนวคิด สวนลอยฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตร พืชสวน พืชไร่ และดอกไม้ พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว นักเรียนและนักศึกษาเข้าเยี่ยมชม ฟรี โดยสำรองรอบการเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้
สยามสแควร์ วัน - วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558 รองศาสตราจารย์ นาวาอากาศเอก นายแพทย์เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ (กลาง) รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายบุญส่ง ศรีสว่างเนตร (ขวา) ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์กชกร วรอาคม (ซ้าย) ภูมิสถาปนิกสยามกรีนสกาย นำทีมผู้บริหารโครงการสวนลอยฟ้า กลุ่มบิ๊กทรี และสมาชิกกลุ่มเมื่อคนเมืองอยากปลูกผัก เปิด “สยามกรีนกรีนสกาย” สวนลอยฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และแหล่งเรียนรู้เกษตรชุมชนสำหรับคนเมือง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสาธิต “ปลูกผัก รัก(ษ์) เมือง” ให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
รองศาสตราจารย์ นาวาอากาศเอก นายแพทย์เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “สยามกรีนสกาย เป็นหนึ่งในความสำเร็จของมหาวิทยาลัยที่สามารถสะท้อนวิสัยทัศน์ “เสาหลักของแผ่นดิน” ได้อย่างเป็นรูปธรรม และตอบโจทย์ของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีที่สุด โดยสามารถผสมผสานองค์ความรู้ด้านวิชาการเข้ากับการออกแบบเชิงศิลปะ ภูมิสถาปัตย์ ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้และบันเทิงในเวลาเดียวกัน รวมทั้ง สยามกรีนสกาย จะถูกใช้เป็นโครงการต้นแบบนำร่องในการบริหารพื้นที่สีเขียว ทั้งภายในและนอกอาคาร ก่อนที่จุฬาฯ จะขยายพื้นที่สีเขียวไปยังส่วนต่างๆ รอบมหาวิทยาลัย รวมกว่า 28 ไร่ เป็นปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุง พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ลานกิจกรรม แหล่งสันทนาการ แหล่งเรียนรู้พฤกษชาติ พันธุ์ไม้ จนถึง ห้องเรียนธรรมชาติที่เสริมการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่กรอบและห้องเรียนอีกต่อไป”
นายบุญส่ง ศรีสว่างเนตร ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “สยามกรีนสกายบริหารงานโดย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บนชั้น 7 หรือชั้นบนสุดของ สยามสแควร์ วัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสวนลอยฟ้าที่มีความสมบูรณ์ที่สุด ทั้งใน ด้านทัศนียภาพ ศิลปะ ภูมิสถาปัตย์ ที่สวยงาม ด้านการศึกษา เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้มาศึกษา หาความรู้ เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ การเลี้ยงดู การจัดการ และที่สำคัญที่สุด ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งรองรับน้ำที่สำคัญของพื้นที่ ช่วยให้เกิดการชะลอการไหลของน้ำเมื่อเกิดฝนตก ขณะเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของพื้นที่ได้ดีขึ้น รวมทั้ง ลดอุณหภูมิความร้อนภายในอาคารลงได้ 3-4 องศาเซลเซียส และลดอุณหภูมิภายนอกใน บริเวณพื้นที่สีเขียวลงได้มากถึง 7 องศาเซลเซียส ที่สำคัญ ประหยัดค่าไฟลงต่อปีได้มากถึง 2,000 บาทต่อการปลูก 1 ตารางเมตรเลยทีเดียว”
รองศาสตราจารย์ ไตรรัตน์ จารุทัศน์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ ผู้ประธานคณะกรรมการตรวจรับและควบคุมงาน กล่าวว่า “สยามกรีนสกาย ได้ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นจากแนวคิดหลัก 3 ประการ ได้แก่ เน้นการเรียนรู้ ชูวิถีเกษตร และสร้างเครือข่ายสังคม โดยการเรียนรู้ หมายถึง การให้ความรู้ด้านการเกษตรก้าวหน้า การจัดการภูมิทัศน์ นิเวศเมือง กระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย ส่วนการชูวิถีเกษตร หมายถึง การนำวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรไทย มาให้คนเมืองได้สัมผัส การจัดสรรพื้นที่เน้นการใช้แนวคิดการจัดการตนเองอย่างครบวงจร และสร้างเครือข่ายสังคม เป็นแหล่งพบปะผู้คนรักษ์เกษตร สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ นอกจากการสร้างเครือข่ายทางสังคมสีเขียวแล้วยังสอดแทรกเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และการจัดการขยะด้วยการมีแนวคิดให้ร้านค้ามีส่วนร่วมในการส่งต่อขยะอินทรีย์เพื่อมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในบริเวณสวนหลังคา
อาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกประจำโครงการกล่าวว่า “แนวคิดของการแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 3 ส่วน ได้แก่ แปลงเกษตรก้าวหน้า แปลงพืชนานาพันธุ์ และแปลงสวนสวยปลูกง่าย พื้นที่ส่วนแรก: แปลงเกษตรก้าวหน้า จะเป็นแปลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด จัดแสดงนวัตกรรมการเพาะปลูกด้วยระบบแสงอาทิตย์ ห้องสาธิตและผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะร้านค้า การเพาะปลูกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีทั้งพันธุ์ไม้สวยงาม พืชสมุนไพร พืชผักสวนครัว ไปจนถึง ปลูกข้าวไร่ พื้นที่ส่วนที่สอง: แปลงพืชนานาพันธุ์ จัดแสดงพืชพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดอาทิเช่น แปลงพืชนานาชาติ สวนสวยเมนูเด็ด ที่ผู้สนใจสามารถนำไปเป็นแนวทางในการเพาะปลูกได้เองที่บ้าน พื้นที่ส่วนที่สาม: แปลงสวนสวยปลูกง่าย จัดแสดงโดยพืชพรรณที่ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก และนอกจากพื้นที่บริเวณแปลงปลูกแล้วยังสอดแทรกผลงานแสดงศิลปะกลางแจ้ง ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่บริเวณผนังท่ออาคารระบายอากาศให้เป็นผนังแต่งแต้มงานศิลป์จากเหล่าศิลปินชื่อดังในโครงการศิลป์สรรค์สยาม
ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมเมือง สยามกรีนสกาย จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมทั้งสามส่วน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำและบรรยายถึงรูปแบบ แนวคิด การบริหารจัดการ พันธุ์พืชและการเพาะปลูก โดยใช้ระยะเวลาการเยี่ยมชมประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ ในทุกวันเสาร์เว้นเสาร์ จะจัดอบรม Workshop ฟรี ให้แก่ผู้สนใจ อาทิ การปลูกผักไร้ดิน การปลูกข้าวไร่ในสวน เทคนิคการจัดสวนเกษตรบนคอนโด เป็นต้น และจะจัดให้มี ตลาดนัดสยามกรีนสกาย รวบรวมผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยผลิตภัณฑ์การเกษตร พืช ผัก ผลไม้ และดอกไม้ มาให้คนเมืองได้เลือกซื้อหรือใช้ในราคาประหยัด ใจกลางสยามสแควร์
สยามกรีนสกาย จะเปิดบริการให้เข้าชม ทุกวันพุธ และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แบ่งรอบการเยี่ยมชมเป็น 3 รอบ ได้แก่ รอบแรก เวลา 10.30-11.30 น. รอบที่สอง เวลา 14.30-15.30 น. และรอบสุดท้าย เวลา 16.30-17.30 น. ทั้งนี้ สยามกรีนสกาย จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม แต่สามารถสำรองรอบเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมแบบบุคคล ครอบครัว หรือ หมู่คณะ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป กรุณาสำรองรอบการเข้าชมล่วงหน้า ได้ที่ ฝ่ายกิจกรรมสถานที่ศูนย์เกษตรกรรมเมืองสยามกรีนสกาย โทรศัพท์ 099-001-8514 อีเมล์ Siamgreensky@gmail.comเว็บไซต์ : www.siamgreensky.com Facebook Fanpage :www.facebook.com/siamgreensky