กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--WWF-ประเทศไทย
วันหยุดเขื่อนโลก WWF-ประเทศไทยเผยแพร่สารคดีสั้นสัมภาษณ์ชุมชนริมลุ่มน้ำโขง ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี อาทิ เกษตรกร ชาวประมง ชุมชน รวมทั้งทัศนะด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ กฎหมาย วิถีชีวิตและวัฒนธรรมจากผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิจัย นักวิชาการจากหลากหลายแขนงเกี่ยวกับผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารของลุ่มน้ำโขงตอนล่างอันเป็นผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่ได้เกิดขึ้นแล้วและไม่สามารถเยียวยาได้
โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ “ไซยะบุรี” คือ โครงการก่อสร้างเขื่อนโครงการแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงส่วนหลัก อันจะก่อให้เกิดผลกระทบทางนิเวศวิทยาและอุทกวิทยาอย่างไม่สามารถเยียวยาได้ต่อระบบลุ่มน้ำโขงตอนล่างทั้งหมด อีกทั้งจะสร้างให้เกิดความหายนะทางความมั่นคงทางอาหารกับคนกว่า 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างแล้วในประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว อ่างเก็บกักน้ำที่มีความยาวกว่า 60 กิโลเมตรจะถูกก่อสร้างขึ้นข้างโครงการจะทำให้เกิดความหายนะที่รุนแรงต่อการอพยพย้ายถิ่นของปลาและการเดินทางของตะกอนดิน
แม่น้ำโขงซึ่งเป็นหนึ่งในระบบแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกโดยมีระยะทางยาวมากกว่า 4,800 กิโลเมตร ทำให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณตอนล่างของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่กว้างใหญ่แห่งสุดท้ายของโลกที่ยังคงสภาพธรรมชาติได้ช่วยหล่อเลี้ยงผู้คนเกือบ 60 ล้านคนด้วยการประมงอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งมีมูลค่าทางการค้ามากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากแม่น้ำโขงผลิตปลาและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอื่นๆ ได้ประมาณ 2.6 ล้านตันต่อปี จึงทำให้แม่น้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยปลาที่จับได้คิดเป็นร้อยละ 19 – 25 ของปลาน้ำจืดที่จับได้ทั่วโลก ในจำนวนนี้มีปลาน้ำจืดมากกว่า 1,200 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงปลาน้ำจืด 4 สายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยสายพันธุ์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำโขงคือปลาบึกยักษ์ที่ใกล้สูญพันธุ์
แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยได้ปล่อยให้มีการดำเนินการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในขั้นสุดท้ายและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะถูกผลิตขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี
สารคดีสั้นทั้ง 7 เรื่องซึ่งจัดทำขึ้นโดย WWF-ประเทศไทย หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลกเป็นกระบอกเสียงของคนในลุ่มน้ำโขงและผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความผูกพันของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในลุ่มน้ำโขงในเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การพึ่งพาทรัพยากรและความมั่นคงทางอาหารที่มีต่อแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำ
ไซยะบุรีได้เกิดขึ้นกับชุมชนในลุ่มน้ำโขงแล้วและผลกระทบนี้จะเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่เขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จสมบูรณ์
ตัวแทนนักพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและการจัดการทรัพยากร นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการกล่าวว่า “ไม่มีปลาบึกที่โตที่อื่นได้นอกจากในแม่น้ำโขง คุณกั้นเขื่อนเขื่อนเดียว การอพยพของปลาก็จบเลย การไหลเวียนของน้ำเปลี่ยนแปลงทันที คุณกำลังเอาทรัพยากรน้ำโขงไปใช้กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ได้ใช้กับคน 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขง พวกเขาอาศัยปลาในการดำรงชีวิต รวมถึงการท่องเที่ยว แต่เรื่องพลังงานคุณหาจากแหล่งอื่นก็ได้ วิศวกรรมกับการคำนึงถึงระบบนิเวศธรรมชาตินี้เรารู้สึกว่ามันสวนทางกันและผลกระทบมันจะมากขึ้นเรื่อยๆ”
ส. รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมายผู้จากศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าวว่า “ขั้นตอนในการปรึกษาหารือของเขื่อนไซยะบุรี ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ เช่น ผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงตั้งแต่เชียงรายจนถึงอุบลราชธานี แต่มีการจัดประชุมแค่สี่ครั้งในบางจังหวัดและไม่มีการประกาศโดยทั่ว การให้ข้อมูลก็ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลโดยทั่วไป อ้างว่ามีอยู่ในเว็บไซต์
ขนาดเราเข้าอินเตอร์เนทยังค้นยาก แล้วนับประสาอะไรกับชาวบ้านริมโขงที่ไม่มีอินเตอร์เนท ในสุด เขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวน 60 ล้านคน อยากให้รัฐกลับไปมองว่า จริงๆ ความมั่นคงทางพลังงานที่รัฐพูดถึง มันใช่ความมั่นคงทางพลังงานที่ประชาชนต้องการจริงหรือไม่ หรือมันเป็นเพียงแค่ความมั่นคงทางพลังงานของคนแค่หยิบมือหนึ่งที่เป็นคนที่มีอำนาจทางสังคม เพราะฉนั้น รัฐยังสามารถจะกลับมาดูแลประชาชนที่เป็นประชาชนทั่วไปจริงๆได้”
คุณยรรยง ศรีเจริญ, ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ, WWF-ประเทศไทยอธิบายความสำคัญของแม่น้ำโขงว่า“แม่น้ำโขงถือเป็น “เส้นเลือดใหญ่สำหรับพี่น้องประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แม่น้ำโขงใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากข้อมูลทางวิชาการพันธุ์ปลากว่า 1,200 ชนิดสามารถเลี้ยงคนได้กว่า 60 ล้านคนในสี่ประเทศ ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจะทำให้การไหลของกระแสน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จะเร็วและรุนแรงทำให้ตะกอนดินสะสมมากขึ้นใต้น้ำ ภายใต้ท้องน้ำในแม่น้ำโขงจะมีวังน้ำลึกซึ่งผิวดินใต้น้ำจะเป็นแหล่งวางไข่ ให้ปลาดูแลคุ้มครองตัวเอง แหล่งหลบภัยให้กับปลาทั้งในฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก หากปลาว่ายขึ้นมาแล้วแหล่งวางไข่หายและไม่ได้วางไข่ ไข่จะฝ่อ และทำให้ปลานั้นๆ ไม่ได้ขยายพันธุ์ในปีนั้นๆ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อจำนวนประชากรปลาในลุ่มน้ำโขงและความมั่นคงทางอาหาร”
“สองสามปีหลัง กระแสน้ำเริ่มเปลี่ยน บางทีน้ำขึ้นในชั่วโมงเดียว อีกสองชั่วโมงน้ำแห้ง หลังๆ ปลาบางชนิดหายไปเลย”วชิรา นันทพรหม ชาวประมงในเชียงคานกล่าว
“น้ำถ้าจะมาก็มาอย่างรวดเร็ว เราเก็บอะไรก็ไม่ทัน แต่ก่อนเราลงไปหาปลาแค่สองสามชั่วโมงก็ได้ปลามากินแล้ว เดี๋ยวนี้ทั้งวันบางทีก็ไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยไป ชาวประมงก็คงจะลำบาก ไม่รู้จะหาปลากินได้อีกไหม ต่อไปปลาคงสูญพันธุ์ไปทั้งหมด” ประยูน แสนแอ ชาวประมงในเชียงคานกล่าว
WWF-ประเทศไทยหวังว่าสารคดีสั้นทั้ง 7 เรื่องนี้จะช่วยทำให้ผู้ชม สื่อมวลชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดโครงการเขื่อนไซยะบุรีจึงเป็นมหันตภัยต่อประเทศไทยและคนกว่า 60 ล้านคนในอุษาคเนย์ ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติที่พิสูจน์ได้ในทางปฏิบัติต่อปัญหาการอพยพของปลาและตะกอนดิน ซึ่งเป็นความเสี่ยงอันใหญ่หลวงต่อการประมงน้ำจืดอันมีมูลค่ามหาศาล และความสมบูรณ์ของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง อีกทั้งยังมีทางเลือกด้านพลังงานอื่นๆ นอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนนี้อันเป็นโครงการที่มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดความเสียหายสูงสุดแห่งหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับเขื่อนต่างๆทั่วโลกที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในขณะนี้