กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--มรภ.สงขลา
สำนักวิทยบริการฯ มรภ.สงขลา อบรมใช้กูเกิลแอปส์เพื่อการศึกษา นำร่องครู 5 จังหวัดชายแดนใต้ หวังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสอน ใช้อุปกรณ์ไอทีคุ้มค่าการลงทุน ด้านครูผู้สอนชี้ ปูทางสู่การปรับรูปแบบการเรียนในอนาคต ติดตามประเมินผลงานครูได้รวดเร็ว
ผศ.ดร.อำนาจ ทองขาว ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ ยังมีจำกัด อาจารย์ผู้สอนยังคงใช้วิธีสอนแบบเดิม คือไม่ได้นำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ประกอบกับครูและนักเรียนยังขาดประสบการณ์ และขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้ครอบคลุมให้ครูและนักเรียนใช้ทั้งโรงเรียน ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง สำนักวิทยบริการฯ มรภ.สงขลา จึงได้ร่วมกับบริษัทกูเกิล นำระบบกูเกิลแอปส์เพื่อการศึกษา (Google Applications for Education) มาจัดอบรมให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มประถมและมัธยมศึกษา ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 160 คน เพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและการทำงาน ให้สามารถใช้งานอย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์
ผศ.ดร.อำนาจ กล่าวว่า หัวข้อในการอบรม เช่น กูเกิล แคเลนเดอร์ กูเกิล ด็อกส์ กูเกิล ไซต์ กูเกิล พลัส เป็นต้น ซึ่งความรู้ที่ผู้อบรมได้รับ สามารถนำไปใช้ในการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียน ช่วยให้โรงเรียนได้ใช้งานอุปกรณ์ไอทีลงทุนไปแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการ โดยมีการจัดอบรมทั้งหมด 4 รุ่น ระหว่างวันที่ 7-29 มีนาคม 2558 ณ อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มรภ.สงขลา เนื้อหามีทั้งการบรรยาย และฝึกปฏิบัติสร้างเว็บไซต์ด้วยกูเกิลไซต์ พร้อมเทคนิคในการปรับแต่ง ฝึกปฏิบัติเทคนิคการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ด้วยกูเกิลกรุ๊ป และพูดคุยผ่านวีดีโอด้วยกูเกิลแฮงก์เอาท์ โดย นายเสรี ชะนะ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนา สำนักวิทยบริการฯ มรภ.สงขลา
ด้าน นายเอกศักดิ์ ดวงภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเนียง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้เข้าอบรม กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้บริหารสถานศึกษา มองว่าการอบรมกูเกิลแอปส์ฯ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารและครูผู้สอนควรให้ความสำคัญ ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากการอบรมสามารถนำไปใช้จัดการเรียนการสอนได้จริงในห้องเรียน โดยรูปแบบอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษา อาทิ การใช้กูเกิลสืบค้นข้อมูล ทั้งเว็บไซต์ รูปภาพ และวีดีโอ ซึ่งนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้ นอกจากนั้น การนำกูเกิล เมล ไปใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทำให้ประหยัดเวลาและงบประมาณในการจัดทำเอกสารได้ อีกทั้งกูเกิล แคเลนเดอร์ ซึ่งเป็นปฏิทินอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถระบุวันเวลา เหตุการณ์สำคัญๆ เพื่อเตือนความจำ ช่วยลดการหลงลืมและความผิดพลาดของการทำงานได้อย่างดี
นายอาจินต์ สุขศรีสังข์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางงาม อ.บางกล่ำ จ.สงขลา หนึ่งในผู้เข้าอบรม กล่าวว่า ผลจากการอบรมทำให้เรียนรู้ว่า สามารถใช้งานกูเกิลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านของการศึกษา โดยเฉพาะกูเกิลคลาสรูม เป็นเสมือนการย่อโรงเรียนมาไว้โปรแกรม สามารถนำมาให้งานได้ 2 ส่วน คือ ระหว่างผู้บริหารกับครูผู้สอนในโรงเรียน ซึ่งผู้บริหารสามารถใช้ในการติดตามการทำงาน ประเมินผลงานของครู และใช้นัดประชุม โดยที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็วได้ อีกส่วนหนึ่ง คือ ระหว่างครูกับนักเรียน ใช้ในการสั่งงานของครูและการส่งงานของนักเรียน โดยที่ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนสามารถสื่อสารโต้ตอบกันไปมาได้ เสมือนนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียนจริง นอกจากนั้น การนำอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีมาใช้ยังมีส่วนช่วยให้ลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ เป็นการประหยัดพลังงานได้อีกทางหนึ่ง
ด้าน นางวิมาลา ณ วาโย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหน้าควน อ.ควนเนียง จ.สงขลา กล่าวว่า รู้สึกประทับใจการอบรมครั้งนี้มาก วิทยากรที่มีความเป็นกันเอง ทำให้บรรยากาศการอบรมเป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่เครียด ในส่วนของการทำเว็บไซต์โรงเรียน เป็นการนำข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนใส่ในเว็บไซต์ แทนการจัดพิมพ์เป็นเล่ม ทำให้สามารถสืบค้นได้ทุกเวลา นับเป็นการลดภาระงานด้านเอกสารธุรการไปในตัว ขณะเดียวกันการที่ผู้บริหารและครูผู้สอนได้เข้าอบรม ทำให้สามารถกลับไปใช้งานทรัพยากรด้านไอทีที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการพัฒนาบุคลากรเพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์กรและระบบการศึกษาในอนาคต