กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวการดำเนินงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ดังนี้
1. รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2558
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 มกราคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,658,059.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.46 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 34,085.53 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น
1) หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 42,109.72 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก
- การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลล่วงหน้าที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จำนวน 23,976 ล้านบาท
- การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 17,116.61 ล้านบาท
- การกู้เงินเพื่อการลงทุน จำนวน 1,988.23 ล้านบาท ประกอบด้วย การเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ 200 ล้านบาท การให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย 618.23 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน รถไฟสายสีแดงและโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 1,170 ล้านบาท
- การชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1,802 ล้านบาท
... หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินมียอดหนี้คงค้างลดลง 5,058.56 ล้านบาท
... หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 1,919.63 ล้านบาท
... หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง 1,046 ล้านบาท
การที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐมียอดหนี้คงค้างลดลง เนื่องจากมีการชำระคืน มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ และจากผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะต่อ GDP ในปัจจุบันยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ค่อนข้างมาก
หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2558 เท่ากับ 5,658,059.36 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5,308,427.40 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 93.82 และหนี้ต่างประเทศ 349,631.96 ล้านบาท (ประมาณ 10,585.32 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 6.18 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 155,423.01 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว (ข้อมูล ณ 30 มกราคม 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.81 ของเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ
โดยหนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาวถึง 5,525,971.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.67 และมีหนี้ระยะสั้นเพียง 132,087.74 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.33
2. รายงานผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ประจำเดือนมกราคม 2558
สบน. มีการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ วงเงินรวม 87,479.45 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาล จำนวน 79,200.45 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 8,279 ล้านบาท
การบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 79,200.45 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) การกู้เงินในประเทศ จำนวน 19,104.84 ล้านบาท
2) การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาล จำนวน 48,976 ล้านบาท แบ่งเป็น
- การปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ จำนวน 9,000 ล้านบาท
- การปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 16,000 ล้านบาท
- การปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้า สำหรับพันธบัตรรัฐบาลที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 พฤษภาคม2558 จำนวน 23,976 ล้านบาท
3) การชำระหนี้ของรัฐบาล จำนวน 11,119.61 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย โดยใช้เงินจากงบประมาณ จำนวน 8,581.32 ล้านบาท และการชำระดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 2,538.29 ล้านบาท โดยใช้เงินค่าธรรมเนียมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับจากธนาคารพาณิชย์ภายใต้ พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือ FIDF ฯ
การบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 8,279 ล้านบาท ประกอบด้วย
1)การกู้เงินในประเทศขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำนวน 1,772.50 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
2)การปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจ แบ่งเป็น
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 2,779 ล้านบาท
- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำนวน 3,727.50 ล้านบาท
คณะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 02 265 8050 ต่อ5505,5522,5903