กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--OutDoor PR Plus
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จัดโครงการประกวด “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เพื่อสืบสาน และอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมมรดกอันล้ำค่าของไทยให้คงอยู่สืบไป ด้วยการคัดเลือกช่างฝีมือผู้สืบทอดงานหัตถกรรม 10 ท่าน ที่มีใจรัก และพัฒนางานหัตถกรรมดั้งเดิมให้มีความทันสมัย พร้อมออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ ศ.ศ.ป กล่าวว่า งานหัตถกรรมเป็นสิ่งที่บ่งบอกเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย นับยิ่งสูญหายไปตามกาลเวลา ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จึงมีแนวคิดที่จะรักษางานหัตถกรรมของไทยให้คงอยู่สืบไป จึงได้สานต่อโครงการ “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตกรรม” ประจำปี 2558 ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เพื่อคัดเลือกช่างฝีมือรุ่นใหม่ๆ ที่มีใจรักและพัฒนาศักยภาพงานศิลปหัตถกรรม ภายใต้การผสมผสานงานหัตถกรรมดั้งเดิมพร้อมนำมาต่อยอดทางความคิด พัฒนารูปแบบ ลวดลาย ให้มีความทันสมัย สามารถเพิ่มมูลค่าและช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมการสร้างงานอาชีพและรายได้ ตลอดจนจะช่วยอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เอกลักษณ์งานหัตถกรรมดั้งเดิมที่สืบทอดผลงานจากบรรพบุรุษให้คงอยู่สืบไป
สำหรับ การพิจารณาคัดเลือก “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ศ.ศ.ป. ได้รับเกียรติจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญงานศิลปหัตถกรรม จากสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน มาเป็นคณะกรรมการพิจารณาตัดสิน โดยมีเกณฑ์ว่าจะต้องเป็นผู้สืบสายเลือดโดยตรงจากครูช่างหรือช่างศิลป์ฯ หรือบุคคลภายในครอบครัว หรือลูกศิษย์ที่สืบสานงานศิลปหัตถกรรม โดยในปี 2558 นี้ มีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว 10 ท่าน ดังนี้ 1. คุณจิตนภา โพนะทา ประเภทงานหัตถกรรม "เครื่องทอ (ผ้าไหมแพรวา) 2. คุณอรษา คำมณี ประเภทงานหัตถกรรม "เครื่องทอ (ผ้าไหมยกดอก)" 3. คุณสุขจิต แดงใจ ประเภทงานหัตถกรรม "เครื่องทอ (ผ้าฝ้ายย้อมคราม)" 4. คุณคมกฤช บริบูรณ์ ประเภทเครื่องจักสาน" (ไม้ไผ่)" 5. คุณพัชร หนานพิวงศ์ ประเภทเครื่องจักสาน "(กก)" 6. คุณนริสา เชยวัดเกาะ ประเภทเครื่องโลหะ (เครื่องทอง) 7. คุณอังคาร อุปนันท์ ประเภทเครื่องโลหะ(เครื่องเงิน,ทอง) 8. คุณณัฐวุฒิ พลเหิม ประเภทเครื่องโลหะ(เครื่องเงิน) 9. คุณประเสริฐ ยอดคำปัน ประเภทเครื่องโลหะ (เครื่องทองโบราณ) และ 10. คุณณิฐ์ภาวรรณย์ จ้อยเอม ประเภทเครื่องดิน (เบญจรงค์)”
“ที่สำคัญในปีนี้สู่การเปิดเวทีประชาคมอาเซียน หรือ AEC มีหลายๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้ตื่นตัวในการต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานหัตถศิลป์ของไทย ก็มีชื่อในเรื่องความประณีตและงดงาม เป็นที่เลื่องลือไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนไทยที่มีมานานในอดีต จึงควรค่ายิ่งต่อการอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ พร้อมทั้งยกระดับความสามารถ เพื่อให้ผลงานศิลปาชีพฯ และหัตถกรรมของไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกอีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ได้รับการยกย่อง “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ทั้ง 10 ท่าน จะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมนำผลงานจัดแสดงนิทรรศการภายในงาน “เทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2558 หรือ International Innovative Craft Fair” 2015 ระหว่างวันที่ 19 – 22 มีนาคม 2558 ณ ไบเทค บางนา