กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--OutDoor PR Plus
“อุไรวรรณ ใช้บางยาง”ช่างเบญจรงค์รุ่นใหม่คว้ารางวัลชนะเลิศในโครงการประกวด“สุดยอดภูมิปัญญา เครื่องเบญจรงค์ไทย”รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นหนึ่งในสุดยอดงานศิลปะไทยภายใต้โครงการ“งานแสดงจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องนานาชาติ ครั้งที่ 2”หรือ Thailand International Porcelain Painting Convention 2015 (TIPP 2015) งานศิลปะเครื่องกระเบื้องที่ใหญ่สุดในอาเซียน จัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ระว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT)
ภาพจิตรกรรมประเพณีหรือการละเล่น นับเป็นงานชิ้นยากสำหรับช่างจิตรกรรม ด้วยมีรายละเอียดสูง ทั้งเรื่องราว ภาพคน ภาพสัตว์ และการสื่อสารที่ผสานกับจินตนาการของช่างเขียน และยิ่งเป็นงานจิตรกรรมบนภาชนะที่มีลักษณะโค้งมนแบบต่างๆ ด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญของช่างสูงขึ้นเป็นเท่าตัว เช่นกันกับภาพจิตรกรรมการละเล่นพื้นบ้านของชนชาติอาเซียนทั้ง 10 ชาติ ซึ่งปรากฏลวดลายอยู่บน“โถชั้น ๙ นิ้ว”เครื่องเบญจรงค์ที่ผ่านการรังสรรค์ด้วยหัวจิตหัวใจของ“อุไรวรรณ ใช้บางยาง”ช่างเบญจรงค์จากสมุทรสาคร นับเป็นผลงานชิ้นเอกของชีวิตที่สร้างชื่อเสียงให้ตนเองและครอบครัวอย่างไม่เคยได้รับมาก่อน“ผลงานชิ้นนี้สร้างความตื่นเต้นที่สุด ทั้งตื่นเต้น ตื้นตัน ดีใจ และหลายความรู้สึกที่บอกไม่ถูกจริงๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่ส่งเข้าประกวด ก่อนนี้ไม่เคยประกวดที่ไหนมาก่อนไม่ว่าจะงานเล็ก-งานใหญ่ โครงการนี้เป็นรางวัลที่สมเด็จพระเทพฯ ท่านพระราชทาน เป็นรางวัลสูงสุดของงานเบญจรงค์ไทย จึงลองส่งเข้าประกวดบ้าง ส่งแบบไม่ได้คาดหวังอะไรเลย พอผ่านเข้ารอบติด 1 ใน 10 ก็ดีใจมากแล้ว แต่ได้ถึงรางวัลชนะเลิศ รู้ว่าได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานจากพระองค์ท่าน วินาทีแรกคือน้ำตาไหล นี่เป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของชีวิต”
คุณอุไรวรรณ บอกถึงความรู้สึกต่อผลงานชิ้นเอก ก่อนจะเล่าถึงแรงบันดาลใจและความยากง่ายในการสร้างสรรค์งานว่า “เครื่องเบญจรงค์มีขั้นตอนและกรรมวิธีในการทำที่ยุ่งยากและซับซ้อนอยู่ในตัวของมันเอง นับตั้งแต่งานปั้น หล่อ เขียนลาย ลงสี เผา แต่ปัจจุบันถือว่าง่ายกว่าเมื่อก่อนมากเพราะช่างรู้จักนำเอาอุปกรณ์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ ตลอดจนคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ เพื่อลดความยุ่งยากในแต่ละขั้นได้มากขึ้น สำหรับผลงาน“โถชั้น ๙ นิ้ว”เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ต้องการสื่อสารเรื่องราวของคนในอาเซียนให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายที่สุด จึงเลือกการละเล่นพื้นบ้านของแต่ละชาติมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายเบญจรงค์ ซึ่งกว่าจะได้กลยุทธ์การสื่อสารที่เข้าใจง่ายถือว่าเป็นเรื่องยาก แต่การสร้างสรรค์งานกลับยากมากกว่า เนื่องจากเป็นภาพที่มีเรื่องราว มีกิจกรรม มีบรรยากาศ ที่ต้องใช้ทักษะในการวางแปลนอย่างแม่นยำที่สุด รวมถึงการใช้ลวดลายภาพคน หากออกแบบหรือใส่เส้นสายร่างกายคนไม่สมดุล ทำให้ร่างกายดูไม่สวย ไม่สมจริง คุณอุไรวรรณ จึงพยายามสรรหาวิธีลดความยากของงานด้วยการใช้ “ภาพเด็ก” เป็นตัวดำเนินเรื่อง
“เราใช้การละเล่นของสิบชาติอาเซียน ทั้งไทยและเพื่อนบ้าน รายละเอียดเรื่องราวก็เลยเยอะด้วย จึงเลือกภาพการละเล่นของเด็ก เพราะเด็กสื่อสารอารมณ์ได้ดีกว่า วาดมาแล้วดูโดดเด่นได้ อีกอย่างคือเขียนง่ายกว่าเพราะมีการแต่งตัวง่ายกว่าผู้ใหญ่ เส้นสายร่างกายไม่สมดุลบ้าง ก็ยังมองเป็นอารมณ์ของความความสนุกสนานของเด็กๆ ความยากสุดๆ จึงตกอยู่ที่การวางแปลนซึ่งเป็นจุดเริ่มของงานเลยทีเดียว เราจะวางการละเล่นของเด็กกลุ่มนี้ คนนี้ ไว้ตรงไหน จัดวางบรรยากาศเป็นอย่างไร เราต้องออกแบบให้เหมาะสมกับของที่เราเลือกมานั่นถือโถชั้น และที่เลือกโถชั้น ๙ นิ้ว เพราะเลข ๙ เป็นเลขมงคล เหมือนเป็นแรงผลักดัน ส่งเสริมกำลังใจตัวเองให้อยากสร้างงานที่เป็นมงคล ส่วนความยากอีกอย่างคือจุกโถ ซึ่งเลือกตราสัญลักษณ์ AEC มาเพื่อสื่อเรื่องอาเซียนให้ชัดขึ้น แค่จุกนี้ใช้เวลาเขียนจุกอย่างเดียว 4 ชม. เขียนแล้วก็ลบ เขียนแล้วก็ลบ เพราะมันไม่สมดุลกันซักที” แต่ทั้งหมดของการสร้างสรรค์งานเครื่องเบญจรงค์ให้ออกมาเป็นภาชนะที่วิจิตรงดงามได้นั้น หัวใจอยู่ที่กรรมวิธีการเผา ต่อให้ช่างเขียนลวดลายได้งดงามเพียงไร แต่ผ่านการเผาที่ไม่พิถีพิถันพอ อาจทำให้สีของเส้นสายเพี้ยนออกมาไม่สวยตามงามที่ออกแบบไว้ หรืออาจทำให้ภาชนะแตกเสียหายได้ งานวาดที่ว่าทุ่มเทสุดหัวใจก็สูญเสียไปด้วยเช่นกัน ซึ่งกรรมวิธีการเผานี้ก็ไม่ได้มีข้อกำหนดใดๆ มาบังคับใช้นอกจากทักษะและความเชี่ยวชาญของช่างที่ลองผิดลองถูกมายาวนาน กระทั่งปัจจุบันก็ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และแทบทุกขั้นตอนของการผลิตเครื่องเบญจรงค์ล้วนขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของช่างทั้งสิ้น
นอกเหนือจากการผลิตเครื่องเบญจรงค์เพื่อเลี้ยงชีพแล้ว คุณอุไรวรรณ ก็ยังสวมบทบาทเป็น “ครูช่าง” ถ่ายทอดวิชาความรู้ตลอดจนเทคนิคต่างๆ ในการสร้างสรรค์เครื่องเบญจรงค์ให้ออกมาเป็นหัตถศิลป์ที่มีทั้งคุณค่าในแง่ของงานศิลปะและมีคุณภาพในการใช้งาน โดยถ่ายทอดความรู้กันแบบหมดเปลือก ไม่มีหวงวิชาแต่อย่างใด ยิ่งลูกศิษย์คนไหนใฝ่รู้ใฝ่ถามมากเท่าไร คุณอุไรวรรณ ก็ให้วิชาไปแบบหมดตัวเลยเหมือนกัน ไม่มีค่าใช้จ่ายสอนให้ฟรี ๆ เพราะอยากให้ศิลปะนี้อยู่กับเมืองไทยนานๆ ทุกขั้นตอนช่างได้ลองผิดลองถูกมาไม่รู้เท่าไร เราไม่หวงเทคนิคนี้เลย สีสัน ลวดลายต่างๆ ก็ไม่มีหวง ไม่มีลิขสิทธิ์ใดๆ เพราะใครก็คิดได้ วาดลายได้ แต่ละลายช่างก็วาดไม่เหมือนกัน งานเบญจรงค์ร้อยชิ้นพันชิ้น รับรองไม่เหมือนกันสักชิ้น เส้นสาย ลวดลาย สีสัน แตกต่างกันแน่นอน นี่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเบญจรงค์ เราอยากให้เบญจรงค์เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไป เมื่อคนเอามาเป็นอาชีพได้งานศิลป์ก็สืบทอดต่อกันไปได้ บวกกับได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ ให้คนทั่วไปเห็นคุณค่า หันมาช่วยสนับสนุนหัตถกรรมไทย สร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ก็เป็นส่วนสำคัญในการสืบทอดเครื่องเบญจรงค์ไทย ส่วนตัวการได้รับรางวัลครั้งนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ในการทุ่มเทความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบงานใหม่ๆ มาไปพร้อมๆ กับการถ่ายทอดศิลปะแขนงนี้ที่ตั้งใจว่าจะทำไปตลอดทั้งชีวิตอย่างแน่นอน”
ด้านนายณัฐวัตร ราชจันทร์ หรือ น้องเป้ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ปวช.ปีที่ 2 จากอาชีวะศึกษาชลบุรี ที่ได้มาชมนิทรรศการ บอกว่า “ในฐานะที่เป็นนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับงานด้านศิลปะ ได้มาเห็นผลงานจริงของผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดแล้ว อดทึ่งไม่ได้ เพราะได้เห็นถึงความประณีต ความใส่ใจ รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของแต่ละชนชาติให้เราได้ทราบ ซึ่งดูแล้วเป็นงานที่ต้องใช้หัวใจใช้ความอดทนในการทำมากทีเดียว ส่วนตัวชื่นชอบผลงาน “บุปผาอาเซียน” ของ อาจารย์ อภิชัย สินธุพูล เพราะได้เห็นถึงแนวคิดที่สร้างสรรค์ ดูแปลกใหม่ และฉีกภาพลักษณ์ของเครื่องเบญจรงค์ในรูปแบบเดิมๆ ถือเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองมีความกระตือรือร้นในด้านการเรียนของตนเองมากยิ่งขึ้น สุดท้ายก็อยากฝากให้ทุกๆคน ช่วยกันร่วมอนุรักษ์และสืบสานให้งานศิลปหัตถกรรม อย่าง “เครื่องเบญจรงค์ของไทย”เรานั้นให้อยู่คู่กับคนไทย เมืองไทยไปนานเท่านาน