กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--
เป็นประจำทุกปีที่มูลนิธิ Rockefeller และ องค์กร The Resource Alliance จะมีการมอบรางวัลแก่มูลนิธิทั่วโลกเพื่อเป็นการส่งเสริมพันธกิจช่วยเหลือประชาคมทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นกำลังใจและเชิดชูเกียรติการทำงานขององค์กรเพื่อสังคมที่มีความเป็นเลิศในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม และล่าสุดเมื่อปลายปี 2557 มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี หรือ Goodwill Group Foundation เป็นมูลนิธิไทยระดับกลางเพียงมูลนิธิเดียวที่ได้รับรางวัล “มูลนิธิดีเด่นของประเทศไทยประจำปี 2557” หรือ “Thailand NGO Awards 2014”
รางวัลมูลนิธิดีเด่นหรือ NGO Awards เป็นการเลือกเฟ้นมูลนิธิดีเด่นของแต่ละประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นกำจะมอบให้แก่มูลนิธิที่มีคุณภาพการดำเนินงานที่มีผลการดำเนินงานอย่างกว้างขวางและมีผลลัพธ์ที่จับต้องได้อย่างแท้จริง โดยในแต่ละปีคณะกรรมการระดับโลกจะมีการคัดสรรและประเมินผลการดำเนินงานของมูลนิธิทั่วประเทศกว่าหลายร้อยแห่ง และทั่วโลกกว่าหลานหมื่นแห่ง เพื่อมอบรางวัลมูลนิธิดีเด่น 3 รางวัลในแต่ละประเทศ แบ่งเป็น 3 ระดับตามขนาดของมูลนิธิ คือขนาดใหญ่ใช้งบการดำเนินงานมากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ขนาดกลางใช้งบการดำเนินงาน 2 – 10 ล้านบาทต่อปี และขนาดเล็กใช้งบการดำเนินงานน้อยกว่า 2 ล้านบาทต่อปี โดยพิจารณาจากการบริหารการจัดการ ความน่าเชื่อถือ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์
มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี หรือ Goodwill Group Foundation ก่อตั้งขึ้นโดยนายธนาคารชาวอเมริกันซึ่งเดินทางมาทำงาน ณ ประเทศไทยแล้วพบว่าผู้หญิงไทยจำนวนมากเลือกทำงานค้าบริการ ทำให้เค้าตระหนักว่าเหตุที่ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเลือกสายงานอาชีพนี้ อาจเป็นเพราะพวกเขามีโอกาสในชีวิตที่น้อยกว่าคนอื่น จึงทำให้เขาก่อตั้งมูลนิธิขึ้นในปี 2543 มีสำนักงานเล็กๆอยู่บนถนนอโศก เพื่อมุ่งส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีที่ด้อยโอกาสให้มีวิธีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านการอบรมวิชาชีพและทักษะในการทำงานโดยอาสาสมัครและคณะกรรมการ อาทิ สอนภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ และวิชาชีพที่สามารถสร้างรายได้ รวมทั้งทักษะเกี่ยวกับการหางาน เช่นการสมัครงานออนไลน์ การเจรจาขอรายได้เพิ่มจากนายจ้างไปถึงอบรมทางด้านกฎหมายและสิทธิ์ ฯลฯ นอกจากนี้มูลนิธิฯยังมีการจัดหางานและให้คำปรึกษาแก่นักเรียน ทั้งทางด้านการทำงานและดำเนินชีวิตอีกด้วย
นักเรียนส่วนใหญ่ของมูลนิธิฯเป็นสตรีที่ไม่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา และส่วนใหญ่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือมีภาระในการดูแลรับผิดชอบครอบครัว มีความจำเป็นต้องเข้ามาหางานในเมืองใหญ่ เนื่องจากโอกาสในการทำงานมีอย่างจำกัดทำให้บางคนได้รับค่าจ้างต่ำกว่าระบบที่รัฐฯกำหนดและถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และจากการสำรวจในปีพ.ศ. 2556 - 2557 พบว่านักเรียนของมูลนิธิฯได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 25% ของรายได้ก่อนการอบรม
ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นในการขยายโอกาสเหล่านี้ให้แก่ผู้หญิงด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือ มูลนิธิฯจึงขยายพื้นที่การทำงานโดยเปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่จังหวัดอุบลราชธานีในปี 2554 เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่เด็กผู้หญิงและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรความรู้ที่จำเป็น เพื่อให้คำแนะนำในการวางแผนอนาคต รูปแบบการเข้ารับการศึกษาแบบต่างๆ นอกจากมหาวิทยาลัย และโอกาสในการประกอบอาชีพสำหรับเยาวชนที่ไม่มีทุนทรัพย์เรียนต่อ โดยวัตถุประสงค์ของมูลนิธิคือ เพื่อขยายโอกาสในการได้รับการประกอบอาชีพในท้องถิ่นชนบท ลดอัตราการเคลื่อนย้ายแรงงานท้องถิ่น และลดความเสี่ยงของเยาวชนที่อาจถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์หรือแรงงานเถื่อน จึงจะเห็นได้ว่าสำนักงานในกรุงเทพฯเน้นการสอนทักษะวิชาชีพและจัดหางานแก่ผู้หญิงวัยทำงาน ขณะที่สำนักงานอุบลฯมุ่งแนวการวางแผนชีวิตและการศึกษาต่อของเยาวชนวัยเรียน
ปัจจุบันมูลนิธิฯมีคณะทำงานนำโดย Mr. Enrique Cuan เป็นประธานมูลนิธิฯ และนางสาวอรพรรณ ปถมเล็ก เป็นผู้จัดการ ร่วมด้วยคณะกรรมการ อาทิ ม.ร.ว.เบญจาภา ไกรฤกษ์ สัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ทิพยนิภา (ไกรฤกษ์) สมะลาภา Mr.Kurt Heck Ms.Michelle Lai เป็นต้น