กรุงเทพ--26 ต.ค.--กทพ.
ตามที่คณะกรรมาธิการคมนาคม ได้มีหนังสือเสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทบทวนการปรับค่าผ่านทางของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 เพราะยังไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีบัญชาให้คณะกรรมการ กทพ. พิจารณา และขอทราบผลโดยด่วยนั้น
ที่ห้องประชุม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เมื่อวันที่ (16 ต.ค. 41) เวลา 10.00 น. ได้มีการประชุมคณะกรรมการ กทพ. โดยมีนายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ในการพิจารณาว่าการปรับอัตราค่าผ่านทางที่ได้ดำเนินการไปแล้วสอดคล้องกับข้อสัญญาแล้วหรือไม่ จากนั้น นายชนะศักดิ์ฯ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กทพ.ได้พิจารณาในประเด็นต่างๆ อย่างละเอียดครบถ้วนโดยตรวจสอบข้อสัญญา ข้อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนเอกสารประกอบสัญญาต่างๆ แล้ว คณะกรรมการ กทพ.มีมติยืนยันว่าการปรับอัตราค่าผ่านทางของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ระหว่าง กทพ.กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทุกประการ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นที่ คณะกรรมาธิการการคมนาคมได้ขอให้มีการพิจารณาทบทวน คณะกรรมการ กทพ.จึงมีมติให้ กทพ.ส่งเรื่องให้ "คณะผู้พิจารณา" ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซึ่งประกอบด้วย นายจุลสงห์ วสันตสิงห์ ศาสตราจารย์สรรเสริญ ไกรจิตติ และ ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ ชัยเสรี ทำการพิจารณาว่าการปรับอัตราค่าผ่านทางที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น สอดคล้องกับข้อสัญญาแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังให้ กทพ. มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นอีกทางหนึ่งด้วย
นายสมนึก ชัยเดชสุริยะ ผู้ว่าการ กทพ. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าตามข้อสัญญา 11.3 ที่กำหนดให้การปรับอัตราค่าผ่านทาง ปรับได้ไม่เกินครั้งละ 10 บาท ซึ่งคณะกรรมาธิการการคมนาคมท้วงติงว่า กทพ.ได้ปรับอัตราค่าผ่านทาง สำหรับรถยนต์ 6-10 ล้อ และเกิน 10 ล้อ เกินกว่า 10 บาท จึงไม่สอดคล้องกับสัญญานั้น กทพ.ได้ตรวจสอบเอกสารท้ายสัญญา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา และมีผลผูกพันเช่นเดียวกับ สัญญาตลอดจนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว การปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งละไม่เกิน 10 บาทนั้น หมายถึงเฉพาะรถ 4 ล้อ เท่านั้น ส่วนรถประเภทอื่นๆ การปรับอัตราค่าผ่านทางไม่อยู่ในข้อจำกัดว่า จะปรับได้ไม่เกินครั้งละ 10 บาท
สำหรับข้อท้วงติงของคณะกรรมาธิการการคมนาคมที่ว่า คำว่า "ระบบ" ในสัญญา หมายถึงทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 รวมกัน และได้กำหนดให้ปรับอัตราค่าผ่านทางสำหรับ "ระบบ" ได้ไม่เกินครั้งละ 10 บาท ซึ่งย่อมหมายถึงการปรับอัตราค่าผ่านทางของรถแต่ละประเภท เมื่อปรับแล้วจะต้องไม่เกิน 10 บาท ดังนั้น การที่ กพท. ปรับอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ ในโครงข่ายในเขตเมืองเพิ่มขึ้น 10 บาท แต่โครงข่ายนอกเมืองเพิ่มขึ้น 5 บาท รวมกันแล้วเป็น 15 บาท จึงถือว่าไม่เป็นไปตามสัญญานั้น กทพ.ได้ตรวจสอบ แล้วเห็นว่าอัตราค่าผ่านทางสำหรับ "ระบบ" ในสัญญาได้แบ่งเป็น "โครงข่ายในเขตเมือง" และ "โครงข่ายนอกเขตเมือง" การปรับอัตราค่าผ่านทางจึงต้องพิจารณาปรับในแต่ละโครงข่าย ซึ่งการปรับอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ ในโครงข่ายในเขตเมือง ปรับเพิ่ม 10 บาท และโครงข่ายนอกเมือง ปรับเพิ่ม 5 บาท โดยมิได้ปรับเพิ่มในแต่ละโครงข่ายเกิน 10 บาท จึงสอดคล้องกับสัญญาแล้ว--จบ--