ฟิทช์:ระดับสินเชื่อภาคเอกชนของประเทศไทยที่สูงยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของประเทศไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 19, 2015 12:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--ฟิชท์ เรทติ้งส์ ฟิชท์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 1.75% เมื่อวันที่ 11 มีนาคมนั้น ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความเสี่ยงในด้านการผิดนัดชำระหนี้ภายในประเทศมากนัก ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของ ธปท. และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในแดนลบที่ 0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อาจทำให้ ธปท. มีความสามารถในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้มากขึ้น นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นน่าจะมีส่วนอย่างมากในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายในครั้งนี้ ระดับหนี้สินภาคเอกชน (private sector leverage) ที่สูงและการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสินเชื่อในช่วงก่อนปี 2557 เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับเศรษฐกิจโดยรวมและภาคการธนาคาร และหากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นส่งผลให้สินเชื่อกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ฟิทช์คาดว่าระดับหนี้สินภาคเอกชนของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นมาที่ระดับ 159% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2557 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มอันดับเครดิต ‘BBB’ ที่ 61% มาก ทั้งนี้ระดับหนี้สินภาคเอกชนที่สูงขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อครัวเรือน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 85% ของ GDP ในปี 2557 จาก 56% ในปี 2551 การขยายตัวของสินเชื่อในช่วงระหว่างปีก่อนจนถึงปี 2557 ส่งผลให้ทั้งภาคเอกชนและภาคครัวเรือนของไทยมีความเปราะบางเพิ่มมากขึ้นในกรณีที่เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างฉับพลันหรือไม่คาดคิด และภาวะดังกล่าวอาจทำปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ในระบบธนาคารเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว่าเมื่อเทียบกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในอดีต ปัจจัยเสี่ยงของภาคการธนาคารยังคงมีอยู่และสภาวะการดำเนินงานในปัจจุบันก็ยังคงมีความท้าทาย โดยฟิทช์ยังคงแนวโน้มอุตสาหกรรมภาคการธนาคารเป็นลบ อย่างไรก็ตามฐานะทางการเงินโดยรวมของระบบธนาคารในปัจจุบันน่าจะสามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง โดยธนาคารในประเทศไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ที่ผ่านมาคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักแม้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ขยายตัวเพียง 0.7% ในปีที่ผ่านมา จากการชะลอตัวลงในด้านการบริโภคและการลงทุน ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและสถานะการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน ในขณะเดียวกัน สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาคการธนาคารยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักจากปี 2556 อยู่ที่ 2.6% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 การเติบโตของสินเชื่อลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2557 สอดคล้องกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เนื่องจากคุณภาพของสินทรัพย์เป็นตัวชี้วัดตาม (lagging indicator) ดังนั้นสินเชื่อด้อยคุณภาพอาจจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2558 หากเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวลง แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ปกติ (base case scenario) ฟิทช์ยังคงคาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงน่าจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 3.5% ในปี 2558

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ