กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--เวิรฟ
จากอัตราการรีไซเคิลที่เพิ่มสูงขึ้น ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดต่ำลง และการเริ่มใช้กล่องเครื่องดื่มที่ทำจากวัสดุชีวภาพ 100% ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกของโลก นับเป็นปีแห่งความสำเร็จนานัปการของเต็ดตรา แพ้ค
เต็ดตรา แพ้ค สร้างความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในปี 2557 เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ของบริษัทฯ โดยสามารถสร้างความสำเร็จหลายประการที่นับเป็นก้าวสำคัญบนวิถีแห่งการมุ่ง สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) และเพิ่มอัตราการรีไซเคิล
ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เปิดตัว เต็ดตรา เร็กซ์ ไบโอ-เบสด์ (Tetra Rex® Bio-based) บรรจุภัณฑ์แบบกล่องรุ่นแรก ของโลกที่ทำจากทรัพยากรทดแทนได้ทั้งหมด โดยเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษบรรจุภัณฑ์และพลาสติกที่ได้จากพืชทั้งหมด รวมถึงฝาปิด ทวิสต์แคป โอเอสโอ 34 (TwistCapTM OSO 34) ที่ทำจากวัสดุชีวภาพ (bio-based) ด้วยเช่นกัน และล่าสุด บริษัท วาลิโอ (Valio) ผู้ผลิตนมสัญชาติฟินแลนด์ อยู่ในช่วงทดสอบการใช้บรรจุภัณฑ์รุ่นดังกล่าวสำหรับ
การวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกทั่วประเทศ
นอกจากนั้น โรงงานและนิติบุคคลของเต็ดตรา แพ้ค ทั้ง 7 แห่ง ได้ผ่านการรับรองสถานะจากเอฟเอสซีแล้ว จึงทำให้ทั้งหมด 92 แห่งทั่วโลก ผ่านการรับรองสถานะห่วงโซ่แห่งการคุ้มครอง (Chain of Custody) จากองค์การจัดการด้านป่าไม้หรือเอฟเอสซี (Forest Stewardship Council - FSC) อย่างครบถ้วน แสดงให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทฯ ในการจัดส่งบรรจุภัณฑ์ติดฉลากเอฟเอสซีได้จากทุกแห่งทั่วโลก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายของบริษัทฯที่จะใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากเอฟเอสซีเท่านั้นในการผลิตบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด
ในปี พ.ศ.2557 เต็ดตรา แพ้ค ได้จัดส่งบรรจุภัณฑ์ติดฉลากเอฟเอสซีให้แก่ลูกค้าทั่วโลกเป็นจำนวนเกือบ 44,000 ล้านกล่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึงร้อยละ 38 ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังได้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ติดฉลากเอฟเอสซีไปแล้วรวมกว่า 130,000 ล้านชิ้น นับตั้งแต่เริ่มเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ที่ติดฉลากดังกล่าวเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากข้อมูลช่วงก่อนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2557 ชี้ให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทุกส่วนในห่วงโซ่อุปทานของ เต็ดตรา แพ้ค ทั่วโลก มีปริมาณลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2553 แม้ว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 7เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีนั้นธุรกิจของบริษัทฯ ยังดำเนินไปด้วยดีบนเส้นทางสู่เป้าหมายในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ. 2020) ที่มุ่งลดผลกระทบจากทุกส่วนของห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อสภาพภูมิอากาศให้อยู่ในระดับเดียวกับปี พ.ศ. 2553 พร้อมๆ ไปกับการสร้างความเติบโตทางธุรกิจ
ในส่วนของกิจกรรมที่ เต็ดตรา แพ้ค เป็นผู้ดำเนินงานเอง บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ต่ำกว่าระดับที่ใช้อ้างอิงเพื่อการตั้งต้นสู่เป้าหมายเมื่อปี พ.ศ.2553 และในปีที่ผ่านมาอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 ในขณะที่ปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 13
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงปี พ.ศ.2557 เต็ดตรา แพ้ค ได้รับการเลื่อนอันดับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามการจัดอันดับของ CDP หรือที่รู้จักกันในนามของ Carbon Disclosure Project ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้การสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในการตรวจวัด เปิดเผย จัดการ และแบ่งปันข้อมูลความรู้ที่สำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม โดยคะแนน CDP ของบริษัทฯเพิ่มจาก 91 เป็น 97 คะแนน ในขณะที่คะแนนของทั้งอุตสาหกรรมมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 53 คะแนน ส่วนการจัดอันดับประสิทธิภาพคาร์บอน (Carbon Performance rating) ของบริษัทฯ เลื่อนขึ้นจากระดับ B เมื่อปี พ.ศ. 2556 เป็นระดับ A- ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ในระดับ C
เต็ดตรา แพ้ค ยังได้นำเสนอระบบและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแปรรูปและบรรจุอาหารเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถร่วมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตนเองสร้างขึ้น และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของตนได้อีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย
- เต็ดตรา เธิร์ม อะเซ็ปติค เฟล็กซ์ (Tetra Therm® Aseptic Flex) เครื่องฆ่าเชื้อระบบปลอดเชื้อที่ทำงานต่อเนื่องซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตนมได้รับประสิทธิภาพสูงสุดในการฆ่าเชื้อด้วยกรรมวิธียูเอชที โดยที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและมีต้นทุนรวม (Total Cost of Ownership) ต่ำที่สุด
- กระบวนการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์แบบใหม่สำหรับน้ำผลไม้ที่มีความเป็นกรดสูง ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ผลิต ลดค่าใช้จ่ายลงในส่วนของพลังงานที่ใช้เดินเครื่องจักรในการผลิตได้มากถึงร้อยละ 20 ด้วยการลดอุณหภูมิที่ใช้ในการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์ครั้งที่สองลงจากอุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส เหลือ 80 องศาเซลเซียสโดยที่ไม่ลดทอนความปลอดภัย หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในขั้นสุดท้าย
-บริการข้อมูลเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Benchmarking Service) เพื่อช่วยให้บริษัทอาหารและเครื่องดื่มสามารถประเมินประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานด้านการผลิตของตนเองและชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
- ฝาเปิด-ปิดที่ทำจากวัสดุชีวภาพซึ่งมีให้เลือกหลากหลายแบบมากขึ้น โดยฝาที่ทำจากวัสดุชีวภาพช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 14-19 ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบของวัสดุชีวภาพที่เลือกใช้ เมื่อเทียบกับฝาซึ่งทำจากวัสดุที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil-fuel)
การรีไซเคิล
ความพยายามของ เต็ดตรา แพ้ค เรื่องการรีไซเคิลยังคงรุดหน้าต่อไป ในปี พ.ศ. 2557 มีการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วมากถึง 651,000 ตันทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 623,000 ตันในปีก่อนหน้านี้ ปริมาณดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับปริมาณต่อปีของบรรจุภัณฑ์ที่บริษัทฯ ส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งแม้จะยังดูเป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับเป้าหมายการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มให้ได้ร้อยละ 40 ในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่บริษัทฯ ยังคงมีความมุ่งมั่นและเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ อาทิ การที่ตลาดเกิดใหม่หลายๆ แห่งยังคงขาดแคลนด้านสาธารณูปโภคด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เพื่อเป็นการเอื้ออำนวยต่อกระบวนการรีไซเคิล บริษัทฯ จึงได้เปิดตัว เต็ดตรา ท็อป ที่มีส่วนบนแยกออกได้ (Tetra Top® with Separable Top) ทั้งสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องแช่เย็นและไม่ต้องแช่เย็น โดยบรรจุภัณฑ์รุ่นดังกล่าวมีส่วนประกอบที่คุ้นเคยกันดี คือ ส่วนบนของกล่องที่เป็นพลาสติกและส่วนที่เป็นตัวกล่องกระดาษ ซึ่งล่าสุดได้รับการออกแบบใหม่ให้ผู้บริโภคสามารถดึงพลาสติกส่วนบนออกได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว หลังจากบริโภคผลิตภัณฑ์หมดแล้ว ทำให้เอื้อต่อการแยกส่วนประกอบทั้งสองออกจากกันเพื่อการรีไซเคิล
“เราได้ตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้ตัวเองไว้อย่างหนักแน่น และโดยรวมแล้วเรายังคงก้าวไปบนเส้นทางนี้ได้อย่างสวยงามเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น” มิสเตอร์มาริโอ อับบริว รองประธานด้านสิ่งแวดล้อมคนใหม่ของ เต็ดตรา แพ้ค กล่าว “เราตระหนักเป็นอย่างดีถึงความจำเป็นถึงที่สุดที่จะต้องแน่วแน่และชัดเจนในมิติที่นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญต่อธุรกิจของเรามากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ เราต้องสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานและการดำเนินธุรกิจอยู่บนวิถีที่จะช่วยปกป้องอนาคตและโลกของเราได้อย่างดีที่สุด พร้อมทั้งส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนการสนับสนุนและเชิญชวนให้ลูกค้าของเราทำเช่นเดียวกับเราอีกด้วย”