กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--กรมป่าไม้
อธิบดีกรมป่าไม้ เร่งประสานงานช่วยเฝ้าระวังและดับไฟป่า เตือนหากมีการเผาป่าจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ด้านผอ.ส่วนควบคุมไฟป่า ร่วมประสานงานอปท. เน้นการสร้างเครือข่ายดับไฟป่า
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งกรมป่าไม้ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมไฟป่า ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันคลี่คลายปัญหาหมอกควันอย่างเร่งด่วน
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า โดยในส่วนของกรมป่าไม้ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ 5 ด้าน ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมในการควบคุมไฟป่า ให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่า 5 ศูนย์ ศูนย์ฝึกอบรมการป้องกันและควบคุมไฟป่า 4 ศูนย์ และหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่า 52 ศูนย์ รวมทั้งชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า หรือชุดเหยี่ยวไฟ 2.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า โดยในปี 2558 ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายฯ อีก 100 เครือข่าย ซึ่งเดิมมีอยู่แล้ว 200 เครือข่าย รวมเป็น 300 เครือข่าย 3.การจัดทำแนวกันไฟ ในพื้นที่เสี่ยง 3,500 กิโลเมตร4.ดำเนินการประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ และ5.การใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า ซึ่งกรมป่าไม้ได้เฝ้าระวังในพื้นที่ไฟไหม้ ตลอดจนพื้นที่ไฟไหม้ที่ดับไปแล้วแต่กลับปะทุขึ้นมาใหม่ และพื้นที่เสี่ยงกันอย่างใกล้ชิด หากผู้ใดลักลอบเผาในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท และเผาในพืชที่เกษตรกรรมของตนเอง มีโทษปรับ 500 บาท
ด้านนายอุธร สุทธิมิตร ผอ.ส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้ถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งกรมป่าไม้จะดำเนินการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้ทางวิชาการ และการฝึกทักษะในการควบคุมไฟป่าให้กับ อปท. รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมในการเฝ้าระวังจุดความร้อน หรือ hotspot แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการถ่ายโอนอำนาจแล้ว หากเกิดไฟป่าขึ้นที่ใด กรมป่าไม้ยังคงช่วย อปท. ในการดับไฟร่วมกัน และทำหน้าที่ประสานงานและสนธิกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ด้วย ซึ่งล่าสุดกรมป่าไม้ได้ติดป้ายประกาศห้ามเข้าไปยังป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า
นายอุธร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้กรมป่าไม้ได้เน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านมาช่วยกันป้องกันและดับไฟป่า โดยแนะนำวิธีการดับไฟป่าอย่างถูกวิธีให้กับหมู่บ้านในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า และสนับสนุนงบประมาณให้ 100 หมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 1 แสนบาท รวม 300 หมู่บ้าน ในการทำแนวกันไฟ จัดชุมลาดตระเวนไฟ และจัดหาอุปกรณ์ในการดับไฟ เพื่อให้เครือข่ายสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ