กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง ประเด็นทางการเมืองในความสนใจของแกนนำชุมชน : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 671 ชุมชน จาก 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ตาก พิจิตร นครราชสีมา ขอนแก่น เลย อุบลราชธานี หนองบัวลำภู สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี อ่างทอง ราชบุรี พังงา สุราษฎร์ธานี ชุมพร และนครศรีธรรมราช ดำเนินโครงการในวันที่18 - 21 มีนาคม 2558
ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 47.9 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยยละ 35.8 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 11.3 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อย 3.7 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 1.3 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ทั้งนี้เมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนถึงประเด็นสำคัญทางการเมืองที่สนใจติดตามมากที่สุดในขณะนี้นั้น พบว่า ร้อยละ 31.9 ระบุผลงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รองลงมาคือร้อยละ 25.3 ระบุการเลือกตั้งครั้งใหม่ ร้อยละ 14.8 ระบุการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่/เกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 10.6 ระบุการประกาศใช้กฎอัยการศึก/การใช้ศาลทหารกับประชาชน ร้อยละ 4.6 ระบุปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น/ความไม่โปร่งใส ร้อยละ 4.1 ระบุความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศ และร้อยละ 8.7 ระบุประเด็นทางการเมืองอื่นๆ อาทิ เรื่องภาษีที่ดิน/คดีจำนำข้าว/ระยะเวลาการอยู่ทำงานของนายกรัฐมนตรี/การทำงานของ สนช. เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามต่อไปถึงการติดตามข่าวการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านกรณีการใช้ศาลทหารกับประชาชน ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 60.4 ระบุติดตามข่าวการออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 39.6 ระบุไม่ได้ติดตามประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นถึงที่มาของการที่ต้องมีการใช้ศาลทหารกับประชาชนในการกระทำความผิดบางลักษณะนั้น แกนนำชุมชนร้อยละ 14.5 ระบุเชื่อว่ากรณีดังกล่าวเป็นการสั่งการจาก คสช.และรัฐบาล ในขณะที่แกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน 3 เชื่อว่าเป็นผลมาจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก และร้อยละ 6.8 ไม่มีความเห็น
ทั้งนี้เมื่อสอบถามการเคยรับทราบเกี่ยวกับลักษณะความคิดที่ต้องขึ้นศาลทหารนั้น พบว่าร้อยละ 76.5 ระบุเคยทราบมาก่อนว่าการกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องขึ้นศาลทหาร ในขณะที่ร้อยละ 23.5 ระบุไม่เคยทราบมาก่อน ในขณะที่ในการกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐภายในราชอาณาจักร นั้น แกนนำชุมชนร้อยละ 80.3 ระบุเคยทราบมาก่อนว่าต้องขึ้นศาลทหาร ร้อยละ 19.7 ระบุไม่ทราบมาก่อน การกระทำความผิดตามประกาศ/คำสั่งของ คสช. นั้น ร้อยละ 87.2 ระบุเคยทราบมาก่อนว่าต้องขึ้นศาลทหาร ในขณะที่ร้อยละ 12.8 ระบุไม่เคยทราบมาก่อน สำหรับกรณีการกระทำความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะในการสงครามนั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 88.4 ระบุเคยทราบมาก่อนว่าต้องขึ้นศาลทหาร ในขณะที่ร้อยละ 11.6 ระบุไม่เคยทราบมาก่อน
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนเกี่ยวกับผลกระทบจากการคงประกาศใช้กฎอัยการศึกษาที่มีต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนนั้นพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 87.0 ระบุไม่ส่งผลกระทบ ในขณะที่ร้อยละ 13.0 ระบุส่งผลกระทบ โดยเรื่องที่ส่งผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ความเชื่อมั่นของประชาชน/กลัวว่าจะไม่ปลอดภัย กลัวถูกทหารจับตัว และไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น