วท.เสนอข่าวงานวิจัยเห็ดนางรมหลวง

ข่าวทั่วไป Friday October 31, 1997 17:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--31 ต.ค.--วท.
ในบรรดาเห็ดเศรษฐกิจเขตหนาวที่เพาะปลูกกันแพร่หลายทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ มีด้วยกันหลายชนิด ในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย นิยมเพาะเห็ดกระดุมเป็นหลัก ส่วนประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน นิยมเพาะเห็ดหอม และเห็ดเข็มทองเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้เห็ดในตระกูลเห็ดนางรมก็มีเพาะแพร่หลายเช่นกัน แต่ในปริมาณที่น้อยกว่า
เห็ดนางรมหลวง (Pleurotus eryngii Quel.) เป็นเห็ดในตระกูลนางรมอีกชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะรูปร่างแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากเห็ดนางรมชนิดอื่น ๆ ที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในตลาด จุดเด่นของเห็ดชนิดนี้ก็คือ ก้านดอกจะมีขนาดใหญ่ และหมวกดอกหนา ออกดอกไม่เป็นกลุ่ม ก้านดอกมีสีขาว ส่วนด้านบนของหมวกดอกจะมีสีเทาอ่อน ถ้าเพาะเห็ดภายใต้โรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อมจะได้ดอกเห็ดที่มีก้านดอกอวบใหญ่ ยาว และมีหมวกดอกเล็ก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค แต่ถ้าเพาะในโรงเรือนเปิด ก้านดอกเห็ดจะมีขนาดเล็กและสั้นกว่า แต่หมวกจะใหญ่กว่า
จากการศึกษาทดลองเพาะที่ศูนย์วิจัยและผลิตเชื้อเห็ดของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่ดอยปุย จ.เชียงใหม่ พบว่าเชื้อเห็ดนางรมหลวงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอาหารเลี้ยงเชื้อทั่วไป แต่ต้องการอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็นประมาณ 25 ซ. และเลี้ยงขยายเชื้อได้ดีในเมล็ดข้าวฟ่างเช่นเดียวกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน (ยางพารา) หรือผสมกับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพดบด ต้นไมยราบบด ใช้เป็นวัสดุเพาะหลัก โดยผสมกับอาหารเสริม เช่น รำข้าว รากมอลต์ เมล็ดข้าวฟ่างบด น้ำตาลทรายแดง ความชื้น 70-75% บรรจุในขวดพลาสติก ปากกว้างขนาดความจุ 1 ลิตร อบฆ่าเชื้อที่ 121 ซ. นาน 1 ชม. เลี้ยงเชื้อที่อุณหภูมิ 22-25 ซ. นานประมาณ 30 วัน เชื้อเห็ดจะเจริญเต็มขวด แล้วเลี้ยงต่อให้เชื้อเจริญเติบโตเต็มที่อีกประมาณ 10 วัน จึงนำไปเปิดดอกที่อุณหภูมิ 15-20 ซ. ความชื้น 80-90% หลังจากเปิดขวดได้ประมาณ 15 วัน ก็จะเก็บเห็ดได้ผลผลิตอยู่ระหว่าง 100-150 กรัมต่อขวด โดยทั่วไปจะทำการเก็บเห็ดเพียงรุ่นเดียว จะเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้วทิ้งเพราะเห็ดรุ่นที่สองคุณภาพไม่ดี มีขนาดเล็กและน้ำหนักน้อย ได้ผลไม่คุ้มกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่เสียไป
เห็ดนางรมหลวงโดยเฉพาะก้านดอกซึ่งมีขนาดใหญ่เนื้อแน่น และไม่เหนียวแน่นแต่คงรูปได้ดีในทุกสภาพและไม่เป็นเมือก จึงเหมาะสำหรับใช้ประกอบอาหารได้ทุกประเภท นิยมหั่นเฉียงให้มีความหนาประมาณ 1 ซม. หรือหั่นเป็นก้อนสามเหลี่ยม รับประทานแล้วจะได้รสชาติดี คาดว่าจะเป็นเห็ดที่ตลาดนิยมและมีความต้องการสูงอีกชนิดหนึ่งในอนาคต
สนใจรายละเอียดโปรดติดต่อสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) 196 พหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 579-1121-30 ต่อ 1026 --จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ