กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
เกษตรฯ เดินหน้าปรับโครงสร้างสินค้าประมง นำร่อง “หอยแครง กุ้งทะเล และปลานิล” หนุนเข้าระบบ “แปลงใหญ่” หวังลดต้นทุน ปรับคุณภาพการผลิต เอื้อระบบส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบาย “การเปิดตัวโครงการตามแผนการปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิตสินค้าประมง” ว่า โครงการตามแผนการปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิตสินค้าประมง เป็นหนึ่งในนโยบาย “เกษตรแปลงใหญ่” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำลังดำเนินการในปี 2558 ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยมุ่งเน้นเป้าหมาย 4 ด้าน คือ ลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกิดระบบตลาด และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้เกษตรกร สำหรับลักษณะการดำเนินงานที่สำคัญของเกษตรแปลงใหญ่ คือ การรวมกลุ่มของเกษตรกรเจ้าของพื้นที่แปลงเล็กให้เกิดการรวมกลุ่มกลายเป็นการบริหารร่วมกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ทำการเกษตรชนิดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิต และการจำหน่ายผลผลิต โดยมีภาครัฐเป็น “ผู้จัดการ” ซึ่งจะมีการกำหนดแผนการดำเนินงานและเป้าหมาย ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพ กำหนดมาตรฐานการผลิต เช่น GAP และเน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นต้น อีกทั้งยังเป็นผู้ช่วยในการเชื่อมโยงด้านการตลาด แต่เกษตรกรจะไม่เสียสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน การเลือกใช้ปัจจัยการผลิต มีการตัดสินใจร่วมกันในการผลิต การใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นการประหยัดและลดต้นทุน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้จนสามารถยืนหยัดอยู่ร่วมกันในสภาวะที่โลกมีเปลี่ยนแปลงได้
สำหรับการปรับโครงสร้างสินค้าประมงเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่นั้น กรมประมงได้มีการนำร่องในสินค้าภาคการประมง 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งทะเล หอยแครง และปลานิล เนื่องจากสินค้าทั้ง3 ชนิดดังกล่าว เป็นสินค้าภาคประมงที่มีมูลค่าสูงในการทำรายได้ให้กับประเทศ แต่ที่ผ่านมาต้องประสบกับอุปสรรคทั้งด้านการค้า ความเสียหายจากโรคระบาด ขาดศักยภาพในการแข่งขัน ฯลฯ จึงทำให้เสียโอกาสในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้ากุ้งทะเลซึ่งประเทศไทยเคยครองแชมป์การส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่กลับต้องเผชิญเหตุการณ์โรคระบาดที่เรียกว่าโรคตายด่วน (EMS) ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งทะเลของไทยลดลงถึงมากกว่า 50% รวมไปถึงสินค้าปลานิล ซึ่งแม้จะมีการขยายตลาดไปได้มากแล้ว แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้ง ยังต้องยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับอีกด้วย ส่วนหอยแครง ถือเป็นสินค้าที่ทำรายได้สูงถึงปีละกว่าพันล้านบาท แต่ปัจจุบันพื้นที่เลี้ยงเริ่มเสื่อมโทรมขาดการฟื้นฟู ประกอบกับวิธีการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหากมีการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงให้เกิดความยั่งยืน น่าจะเป็นสัตว์น้ำที่น่าจับตามองอีกชนิดหนึ่งเลยทีเดียว โดยขณะนี้กรมประมงได้มีการส่งต่อนโยบายไปยังระดับจังหวัดเพื่อเร่งเดินหน้าโครงการฯ พร้อมวางแผนเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนต่อไปแล้ว
ด้านนางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะผู้กำกับโครงการ กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินงานในแต่ละรายสินค้าว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเลอย่างครบวงจร ดำเนินการในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ และตราด มีกิจกรรมที่ดำเนินการ 5 กิจกรรม ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 26.951 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายให้ผลผลิตของกุ้งทะเลในพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 และเกษตรกรสามารถลดต้นทุนลงได้ ร้อยละ 10 สามารถสร้างตราสัญลักษณ์สินค้าของตนเองได้ ส่วนโครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งผลิตหอยแครง ดำเนินการที่จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหอยแครงมานานจึงมีความเสื่อมโทรมทั้งพื้นที่และผลผลิต ดังนั้น การจัดทำโครงการครั้งนี้จะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ โดยมีกิจกรรมสำคัญ 6 กิจกรรม ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 70.921 ล้านบาท โดยกำหนดเป้าหมายให้มีการฟื้นฟูพื้นที่เลี้ยงหอยแครง จำนวน 9,920 ไร่ สร้างแหล่งพ่อแม่พันธุ์ (Seed Bed) ได้เพิ่มขึ้น 1 แหล่ง และเกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้อย่างน้อยร้อยละ 10
ด้านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงปลานิลแบบครบวงจร ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กาฬสินธุ์ ชลบุรี และนครศรีธรรมราช มีกิจกรรมที่ดำเนินการ 7 กิจกรรมหลัก ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 22.305 ล้านบาท โดยกำหนดเป้าหมายให้มีผลผลิตปลานิลเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 สามารถลดต้นทุนการเลี้ยงปลานิลได้อย่างน้อยร้อยละ 10 มีการรวมกลุ่มแปรรูปได้อย่างน้อย 5 กลุ่ม และมีฟาร์มที่ได้การรับรอง GAP อย่างน้อย 400 ฟาร์ม สามารถจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนอย่างน้อย 4 กลุ่ม และจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ได้ 4 กลุ่ม ด้านการตลาดสามารถส่งจำหน่ายผลผลิตปลานิลในห้างสรรพสินค้าได้จังหวัดละ 1 แห่ง