กรุงเทพ--6 ส.ค.--สวช.
“แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง แม่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล แม่เราเฝ้าโอละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเหไปจนไกล แต่เล็กจนโตโอ้แม่ถนอม แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดแต่รักลูกปักดวงใจ เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่ นี่แหละหนาอะไรมิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม....”
ได้ฟังเพลงนี้เมื่อไรทุกคนก็จะอดคึดถึงแม่ไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดแม่และห่างบ้านเกิดมานาน ทั้งนี้พื้นฐานการใช้ชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่จะมีความใกล้ชิดผูกพันกับครอบครัวมากกว่าชาติอื่น ครอบครัวไทยส่วนใหญ่จะมีปู่ย่า หรือตายายอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่สำหรับผู้คนในเมืองหลวงแล้วอาจแตกต่างออกไป เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จะเป็นคนต่างจังหวัดที่ย้ายเข้ามาอยู่ บางคนอาจเข้ามาเรียนหนังสือและเมื่อเรียนจบก็อยู่ทำงานต่อ บางคนก็เข้ามาหางานทำจึงไม่ค่อยได้กลับบ้านเกิดทำให้เหินห่างบุพการีไป
เมื่อถึงวันหนึ่งที่ทางราชการกำหนดให้เป็น “วันแม่แห่งชาติ” ซึ่งเป็นวันที่ลูก ๆ ทุกคนได้รำลึกถึงพระคุณแม่และควรกลับไปหาท่าน ในช่วงชีวิตที่ยังไม่ต้องรับผิดชอบมากมายนัก บางคนก็ยังไม่ต้องรับผิดชอบมากมายนัก บางคนก็ยังไม่รู้สึกลึกซึ้งกับคำว่าแม่ แต่เมื่อถึงวันที่เรามีภาระมีลูกที่ต้องเลี้ยงดูแล้ว เมื่อนั่นเราถึงค่อยเข้าใจหัวอกของคนเป็นแม่ที่มีต่อลูกน้อย ซึ่งความจริงแล้วเราไม่น่าที่จะต้องรอให้เวลานั้นมาถึงก่อนแล้วค่อยคิด แต่เราควรสำนึกตั้งแต่วันนี้และตลอดเวลาในจิตใจควรระลึกถึงพระคุณแม่และหาทางตอบแทนในทุกโอกาส โดยการไม่ทำให้ท่านหนักใจและเอาใจใส่ดูแลท่านยามที่ท่านต้องการก่อนที่จะสายเกินไป
“วันแม่แห่งชาติ” หรือที่คนไทยทั่วไปนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “วันแม่” ทุกคนรับทราบและซาบซึ้งกันดี เนื่องจากวันสำคัญนี้ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือวันที่ 12 สิงหาคม อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพและถือว่าเป็นวันแม่ของชาติ แต่เดิมนั้นวันแม่ของชาติได้กำหนดเอาวันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรองเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2493 ซึ่งได้พิจารณาว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ผู้รับมอบให้จัดงานวันแม่มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับควมสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างออกไปได้ การจัดงานไม่เพียงแต่จัดพิธีทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังจัดให้มีการประกวดแม่ของชาติ ประกวดคำขวัญวันแม่ทั้งนี้เพื่อให้เกียรติแก่แม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของงานวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (สมัยนั้น) แต่ทั่วไปเรียกกันว่าวันแม่แห่งชาติ
ต่อมาถึง พ.ศ.2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือว่าวันเสด็จพระราชสมภพของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถคือวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติเริ่มในปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมาจากหนังสือกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแม่หลวงของปวงชนพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2520 มีข้อความตอนหนึ่งเทิดพระเกียรติไว้ว่า
“แม่ที่ดีย่อมรู้จักส่งเสริมธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมประชาชาติเพราะแม่ทราบดีว่า ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้วความเป็นไทยที่แท้จริงจะมิปรากฎอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา”
แม่ที่ดีย่อมประพฤติตนเป็นพลเมืองดีตามระบบของการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากัษตริย์เป็นประมุข โดยรักเคารพและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด
หญิงไทยทุกคนย่อมจะมีคุณลักษณะต่าง ๆ ของแม่ที่ดีดังกล่าวข้างต้นนี้อยู่แล้วจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการศึกษาและการฝึกหัดอบรม แต่จะหาหญิงใดที่มีคุณลักษณะครบถ้วนทุกประการเสมอเหมือนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นั้นไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้เราจึงเทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า ทรงเป็นแม่หลวงของปวงชนผู้ทรงเป็นศรีสง่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของบ้านเมือง และของประชาชนชาวไทยทั้งมวล
ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของวันแม่ของชาติตามเหตุผลของทางราชการ อย่างไรก็ตามการที่ทางราชการประกาศกำหนดวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันแม่แห่งชาติย่อมก่อให้เกิดวันอันเป็นที่ระลึกที่สำคัญยิ่งของไทยเราวันหนึ่ง และกำหนดให้ถือว่าดอกมะลิสีขาวบริสุทธิ์เป็นสัญญาลักษณ์แห่งความดีงามของแม่ผู้ให้กำเนิดแก่ตัวเรา อย่างคำประพันธ์บทดอกสร้อย ชื่อ แม่จ๋า ของท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ที่ว่า
ดอกเอ๋ยดอกมะลิ
ถึงยามผลิกลิ่นพราวสกาวต้น
สดสะอาดปราศจากสีราคีระคน
เหมือนกมลใสสดหมดระคาย
กลิ่นมะลิหอมกระไรไม่รู้สร่าง
เปรียบได้อย่างรักแท้ไม่แปรหาย
อันรักแท้แลหัวใจได้บรรยาย
ขอเชิญทาย ณ ที่ไหนจากใครเอย
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ
1.ประดับธงชาติที่อาคารบ้านเรือน
2.จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์หรือทำบุญใส่บาตรเพื่อุทิศส่วนกุศลและ
ระลึกถึงพระคุณแม่
3.ผู้ที่อยู่ห่างไกลผู้ให้กำเนิดควรกลับไปเยี่ยมเยียนเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที--จบ--