กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จัดพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2557 เชิดชูเกียรติ 4 องค์กรไทยคุณภาพ ทั้งภาครัฐวิสาหกิจและเอกชน ที่สามารถคว้ารางวัล“การบริหารสู่ความเป็นเลิศ” หรือ Thailand Quality Class (TQC) ได้สำเร็จ โดยได้รับเกียรติจาก หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
การพิจารณาให้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ได้ดำเนินการมาครบรอบ 13 ปี แล้วในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งผลการตรวจประเมินองค์กรที่สมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ประจำปี 2557 มีองค์กรที่ได้รับรางวัล ดังต่อไปนี้
- รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award (TQA) ซึ่งต้องได้รับคะแนนการตรวจประเมินสูงกว่า 650 คะแนนขึ้นไป ยังไม่มีองค์กรใดผ่านเกณฑ์การตรวจประเมิน
- รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC) ซึ่งต้องได้รับคะแนนการตรวจประเมินสูงกว่า 350 คะแนน มีจำนวน 4 องค์กร ได้แก่
1. บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด
2. ธุรกิจ 7-Eleven บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด
4. สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำวิธีการบริหารจัดการด้วยกรอบแนวคิดใหม่ๆ มาปรับใช้ร่วมกับศักยภาพเดิมที่องค์กรมี เช่น ความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร ทรัพยากรในประเทศ จุดเด่นด้านการบริการ และวัฒนธรรมของคนไทย ผมเชื่อมั่นว่า หากมีการนำเกณฑ์การบริหารจัดการอันเป็นที่ยอมรับในระดับโลกมาปรับใช้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการขยายผลความสำเร็จจากภาคส่วนหนึ่งไปยังภาคส่วนอื่นๆ อย่างครบถ้วนแล้ว ย่อมกลายเป็นพลังแห่งการพัฒนา ที่มาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศของเราให้ดียิ่งขึ้นได้ ดังเช่น เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติที่มีการขยายผลจากภาคอุตสาหกรรมไปยังภาคการศึกษา สาธารณสุข รัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐ
รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายในการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความสามารถของภาคธุรกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรมหรือบริการ ภาคการศึกษา และสาธารณสุข ดังเช่นองค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้ แสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจมีความพยายามในการพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ทัดเทียมกับระดับสากล ซึ่งภาครัฐเองที่เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการของภาคธุรกิจก็กำลังเร่งปรับตัว และได้รับเอาเกณฑ์อันเดียวกันนี้เข้ามาใช้พัฒนาองค์กร และถ้าองค์กรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจสามารถนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปปฎิบัติได้ทุกองค์กร รัฐบาลก็จะสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐก็จะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างดี และประชาชนก็จะมีความสุข
สำหรับองค์กรที่ได้รับรางวัล TQC ในปีนี้ ทั้ง 4 องค์กร ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และความมุ่งมั่นไปสู่ความเป็นเลิศของผู้บริหาร พนักงานในองค์กร และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสำเร็จในวันนี้ ผมหวังว่าองค์กรท่านจะเป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรอื่นๆ ได้มีความมุ่งมั่นยิ่งขึ้นต่อไป”
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรไทยให้มีวิธีปฏิบัติและผลการดำเนินการที่น่าเชื่อถือ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและกลุ่มบุคคลต่างๆ ในการผลักดันรางวัลคุณภาพแห่งชาติให้เป็นที่ยอมรับของภาครัฐและเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับดูแลการดำเนินโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ หน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่บริหารจัดการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ
ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนอาสาสมัครมาทำหน้าที่ผู้ตรวจประเมินรางวัล และจัดทำรายงานป้อนกลับ (Feedback Report) ให้แก่องค์กรผู้สมัครขอรับรางวัล และองค์กรที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี มีบทบาทในการแบ่งปันประสบการณ์จากบทเรียนแห่งความสำเร็จขององค์กร รวมทั้งกลยุทธ์ด้านคุณภาพเพื่อเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่นๆ ได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรจำนวนมากได้ริเริ่มนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้เพื่อยกระดับขีดความสามารถขององค์กร อันนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับการมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติในปีนี้มีองค์กรสมัครขอรับรางวัลจำนวน 31 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรภาคบริการ จำนวน 14 ราย องค์กรภาคการผลิตจำนวน 13 ราย และองค์กรภาคการบริการสุขภาพและภาคการศึกษา จำนวนภาคละ 2 ราย”
นายสมภพ อมาตยกุล ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “จากงานแถลงข่าวประกาศผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา ผู้บริหารของทั้ง 4 องค์กร ได้กล่าวถึงความเชื่อมั่นในแนวทางการบริหารจัดการตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติว่า เป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างความเติบโตให้กับองค์กร โดยทำให้พนักงานในองค์กรมีการคิดเพื่อพัฒนาตนเองและองค์กรอยู่เสมอ รวมทั้งเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติจะทำให้องค์กรเห็นความท้าทายใหม่ๆ ส่งผลให้องค์กรสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสิ่งที่ทุกท่านกล่าวเหมือนกันอีกประการหนึ่งก็คือ ยังมีความมุ่งมั่นในเส้นทางแห่งคุณภาพนี้ต่อไป
ถึงแม้ว่าในปีนี้ ยังไม่มีองค์กรใดได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ แต่หากองค์กรได้นำคำแนะนำจากการตรวจประเมินไปดำเนินการปรับปรุงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อองค์กรของท่านและมีโอกาสไปสู่จุดหมายสูงสุดคือรางวัลคุณภาพแห่งชาติ นอกจากนั้น คุณค่าที่สำคัญของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยังอยู่ที่การแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีปฏิบัติขององค์กรที่ได้รับรางวัล เพื่อให้องค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาในภาพรวม สำหรับประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ก็คือ การที่เกณฑ์มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดทุกๆ 2 ปี ทำให้องค์กรรู้ว่าต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดบ้าง ซึ่งผู้บริหารขององค์กรสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางขององค์กรเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ทางธุรกิจได้อยู่เสมอ ทั้งนี้ จุดมุ่งเน้นเชิงกลยุทธ์ของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มีประเด็นหลัก 3 ข้อ โดยมุ่งเน้นไปถึงอนาคตซึ่งจะสะท้อน “ความอยู่รอดและยั่งยืนขององค์กร” ประกอบด้วย
(1) การออกแบบและใช้ระบบงานที่แข่งขันได้ ซึ่งเน้นสมรรถนะหลักองค์กร ที่เป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
(2) การปลูกฝังและจัดการนวัตกรรม โดยประเด็นที่จะพัฒนาโอกาสของความได้เปรียบเชิงแข่งขันไปเป็นความยั่งยืน คือ นวัตกรรมและการจัดการ
(3) ความสามารถจัดการสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งกลไกการบริหารจัดการที่ดีที่สุด คือ การมีค่านิยมองค์กรที่เข้มแข็ง อันเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
สำหรับการดำเนินโครงการเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติในก้าวต่อไปนั้น คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติยังคงมีกิจกรรมที่จะส่งเสริม และเผยแพร่ให้องค์กรต่างๆ นำเกณฑ์เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศไปใช้ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันที่ยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป”