กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--นิด้าโพล
ส.อ.ท. ร่วม นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็น “อัตราภาษีในสายตา SMEs”
พบ!! ผู้ประกอบการ SMEs เห็นด้วยกับการยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังถึงร้อยละ 74.19
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับ สถาบันบัณฑิตย์พัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล ในการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศในด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนั้น หนึ่งประเด็นที่ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และต้องการสำรวจข้อมูลสะท้อนกลับจากผู้ประกอบการ คือ ประเด็นเกี่ยวกับการความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมกับนิด้าโพล ในการจัดทำโพลเรื่อง “อัตราภาษีในสายตา SMEs” ด้วยเห็นความสำคัญถึงเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs อย่างแท้จริง
“ในการสำรวจครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำงานร่วมกับ นิด้าโพล โดยอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกระจายทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้เน้นการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ SMEs เรื่อง การยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท และเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเริ่มจากร้อยละ 5 และปรับเพิ่มขึ้นตามผลประกอบการอย่างเป็นสัดส่วน ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย โดยผลการสำรวจที่ได้ จะเป็นข้อมูลประกอบให้กับสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเร่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุพันธุ์ กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตย์พัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เรื่อง “อัตราภาษี ในสายตา SMEs” โดยสอบถามความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ กระจายทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้นจำนวน 895 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับโครงสร้างอัตราภาษีในสายตาของ SMEs ซึ่งสามารถสรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้
ความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีต่อ การยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ SMEs เห็นด้วยร้อยละ 74.19 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 18.55 และยังไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 7.26
/ สำหรับ...
สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีต่อ การปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเริ่มจากร้อยละ 5 และปรับเพิ่มขึ้นตามผลประกอบการอย่างเป็นสัดส่วน ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย จากเดิมที่ต้องชำระภาษีที่ร้อยละ 15-20 ว่าจะสามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบภาษีของภาครัฐได้มากขึ้นหรือไม่นั้น จากการสำรวจพบว่า โครงสร้างภาษีดัวกล่าว สามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบได้มากขึ้นถึงร้อยละ 67.82 คิดว่าไม่แตกต่างจากการใช้อัตราภาษีเดิมร้อยละ 19.66 คิดว่าทำให้เข้าสู่ระบบได้น้อยลง ร้อยละ 0.78 และยังไม่แน่ใจร้อยละ 11.73
การสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีต่อคำจำกัดความที่เหมาะสมของ “ธุรกิจเอสเอ็มอี”พบว่า ผู้ประกอบการเห็นว่าคำจำกัดความที่เหมาะสมมากที่สุดคือ ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 48.83 รองลงมาคือ ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 25.14 ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 200 ล้านบาท/ปี ร้อยละ 10.06 ธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ร้อยละ 3.69 และยังไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 10.06 นอกจากนี้ ยังมีความเห็นต่อการให้คำจำกัดความอื่นๆ ได้แก่ เป็นธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 10 ล้านบาท/ปี , 15 ล้านบาท/ปี , 20 ล้านบาท/ปี และ 30 ล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 2.23 ด้านความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ในการให้กรมสรรพากรจัดอบรมหลักสูตรการจัดทำบัญชี นั้น จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการให้กรมสรรพากรจัดอบรมสูงถึงร้อยละ 87.82 ไม่ต้องการให้จัดอบรม ร้อยละ 10.39 และยังไม่แน่ใจร้อยละ 1.79
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีต่อเรื่องภาษีในภาคธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น จากการสำรวจพบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs เสนอแนะมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.56 คือ ขั้นตอนการขอใบกำกับภาษี การเสียภาษี มีวิธีการยุ่งยาก ซับซ้อน ควรเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบ และคืนเงินภาษีให้มากขึ้น ซึ่งหากเป็นไปได้ กรมสรรพากรควรคำนวณยอดขาย และยอดภาษีที่จะต้องชำระ เพื่อลดความยุ่งยากในการจ่ายภาษี พร้อมทั้งมีการใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยในการแจ้งข่าวข้อมูล ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีให้ทั่วถึง พร้อมปรับปรุงเว็บไซต์ให้ผู้ใช้สามารถกรอกรายละเอียดได้ง่ายขึ้น รองลงมาคือ เสนอให้ รัฐบาลควรช่วยเหลือ SME ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับภาษี เช่น การลดหย่อนภาษี หรือยกเว้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 27.91 นอกจากนี้ ยังเสนอให้ควรมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ เช่น การเปิดอบรมเกี่ยวกับระบบภาษีใน SME คิดเป็นร้อยละ 18.60 เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบบภาษี และเสนอแนะว่าควรมีการปรับระบบโครงสร้างภาษีตามอัตราเดิม หรือปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือปรับตามขนาดของธุรกิจ และการเสียภาษีย้อนหลังควรงดเก็บภาษีเงินเพิ่ม คิดเป็นร้อยละ 13.95 รวมถึงเสนอให้กรมสรรพากร ควรตรวจสอบกิจการ เพื่อนำ SME เข้าสู่ระบบให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และลดช่องว่างการหลีกเลี่ยงภาษี โดยคิดเป็นร้อยละ 6.98...//