กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เศรษฐกิจซบเซา ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ก.พ. 58 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 88.9 วอนภาครัฐเร่งรัดเบิกจ่ายและลงทุน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 1,168 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 31.6,34.8 และ 33.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 38.3, 12.4, 11.6, 12.2 และ 25.5 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.6 และ 19.4 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ระดับ 88.9 ลดลงจากระดับ 91.1 ในเดือนมกราคม โดยค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนกุมภาพันธ์ ยังส่งสัญญาณปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มSMEs มีสาเหตุจากความกังวลต่อภาวะซบเซาของเศรษฐกิจในประเทศ การชะลอการใช้จ่าย จากกำลังซื้อที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ซึ่งเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นรายภูมิภาคที่ปรับตัวลดลงทุกภาค ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรมีการเร่งรัดการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังขยายตัวดี โดยเฉพาะกับประเทศเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.2 ลดลงจากระดับ 100.4 ในเดือนมกราคม และค่าดัชนียังลดลงต่ำกว่าระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน สะท้อนว่าความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในอนาคตอยู่ในระดับที่ไม่ดี โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของทุกขนาดอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ระดับ 81.9 ลดลงจากระดับ 82.2 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต โดยต้นทุนประกอบการและผลประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.3 ลดลงเล็กน้อยจาก 99.9 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ระดับ 85.9 ลดลงจาก 89.6 ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง และอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.5 ลดลงจาก 100.0 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่ามีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ระดับ 98.9 ลดลงจากระดับ 101.4 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า, อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 99.9 ลดลงจากระดับ 101.6 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกภาคปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ระดับ 92.1 ลดลงจากระดับ 93.4 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนจากไม้ มีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ประกอบกับต้นทุนประกอบการที่เพิ่มขึ้น, สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์หนัง มียอดส่งออกไปประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาลดลง) อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น (สินค้าประเภทแผ่นปาร์ติเกิลบอร์ด ไม้แผ่นบางและไม้อัด มียอดขายในประเทศลดลงจากการชะลอคำสั่งซื้อของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, สินค้าประเภทชิ้นไม้สับ มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศอินโดนีเซีย จีนละฮ่องกงลดลง) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (เนื่องจากผลิตภัณฑ์กระดาษแข็งมียอดขายในประเทศลดลง, ผลิตภัณฑ์กระดาษสา มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น และฮ่องกง ลดลง) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (เนื่องจากสภาพอากาศร้อนขึ้น ส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ และตู้แช่ มียอดคำสั่งซื้อทั้งในประเทศเพิ่มขึ้น) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.4 ลดลงจากระดับ 100.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ระดับ 83.2 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 83.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าประเภทผ้าลูกไม้ เส้นด้าย 100% และเส้นไหมดิบ มียอดการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น และยุโรปลดลง เนื่องจากถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากยุโรป) อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาและชุดอาหารมียอดการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและไต้หวันลดลง, เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศมีสินค้าในสต๊อกจำนวนมาก) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทหินประดับ หินอ่อน และหินลาย มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้นแกรนิต มียอดสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม ลาว ลดลง) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยา (เนื่องจากยารักษาโรคทั่วไป มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากโรงพยาบาลและสถานีอนามัย) ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.3 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 96.8 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ระดับ 85.3 ลดลงจากระดับ 86.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (สินค้าประเภทน้ำตาลทรายขาว มียอดการส่งออกลดลงจากประเทศฮ่องกง, จีน และสิงคโปร์ เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีสต็อกในปริมาณสูง) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (สินค้าประเภทรถไถนา และเครื่องสูบน้ำมียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากเกษตรมีรายได้ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดการส่งออกลดลงจากประเทศญี่ปุ่นและจีน เนื่องจากเสียเปรียบคู่แข่งด้านราคา) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (เนื่องจากสินค้าสมาร์ทโฟน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากงานThailand Mobile Expo 2015 ส่วนฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและแผงไอซี มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐอเมริกาและอาเซียน) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 95.8 ลดลงจากระดับ 98.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (สินค้าประเภทหลังคาสังกะสีและหลังคาเหล็กเคลือบ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของภาคการก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์กระเบื้องหลังคา มียอดส่งออกไปประเทศในกลุ่ม CLMV, จีน และฟิลิปปินส์ ลดลง) อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซิเมนต์ชนิดผงและปูนซิเมนต์สำเร็จ มียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องประดับ (สินค้าประเภทเครื่องประดับเงินและเพชรมียอดการส่งออกลดลง จากประเทศในแถบตะวันออกกลาง และยุโรป เนื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (มียอดส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นในตลาดยุโรป, ตลาดออสเตรเลียและทวีปอเมริกา และยอดขายรถจักรยานยนต์ ในประเทศเพิ่มขึ้น จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากขึ้น) ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.5 เพิ่มขึ้นจาก 101.2 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ระดับ 85.4 ลดลงจากระดับ 86.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (สินค้ายางแปรรูปขั้นต้นปประเภทยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ มียอดส่งออกไปประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีสต็อกสินค้าปริมาณสูง) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป มียอดสั่งซื้อจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศลดลง,ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูป มียอดสั่งซื้อจากประเทศจีน มาเลเชีย และอินโดนีเชียลดลง) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (เนื่องจากสวนปาล์มประสบปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลต่อปริมาณการผลิตลดลง) อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคใต้ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป (ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งประเภทกุ้งและปลาทูน่ามียอดส่งออกประเทศญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.0 ลดลงจากระดับ 102.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศและกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนมกราคม
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 85.3 ปรับตัวลดลงจาก 88.6 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.5 ลดลงจากระดับ 100.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 103.8 ลดลงจากระดับ 105.2 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.9 ลดลงจากระดับ 98.2 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คือ ผู้ประกอบการต้องการให้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันขณะเดียวกันยังเสนอให้ภาครัฐเร่งพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน และระบบการรับรองความสามารถของกำลังแรงงาน และอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนด้านการขนส่งสินค้าให้มีความคล่องตัวมากขึ้น...//