กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
“ปีติพงศ์” มอบกรมตรวจบัญชีฯ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมหารือคณะกรรมการสหกรณ์คลองจั่น โดยยึดตามกรอบอำนาจหน้าที่ หลังศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ พร้อมเร่งยกร่างแก้กฎหมาย พ.ร.บ.สหกรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเสนอเข้าครม.
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มลายกลางนัดอ่านคำพิพากษาคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ว่าให้มีการฟื้นฟูกิจการพร้อมทั้งให้คณะดำเนินการสหกรณ์ชุดปัจจุบันเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งเบื้องต้นได้มอบหมายให้ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าไปช่วยสนับสนุนในด้านข้อมูลเพื่อการจัดทำแผนฟื้นฟู หรือสิ่งที่คณะกรรมการฯ ร้องขอมา โดยให้ยึดตามอำนาจหน้าที่ที่ภาครัฐจะกระทำได้ เนื่องจากขณะนี้สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ มีความเป็นห่วง คือ การบริหารจัดการลูกหนี้ที่เป็นผู้ฝากรายย่อย แม้ว่าเงินส่วนหนึ่งจะได้คืนมาแล้วก็ตาม สำหรับในส่วนของการระงับข้อพิพาทระหว่างคณะกรรมการชุดที่ 30 และสมาชิกสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้าไปไกล่เกลี่ยเพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน
“อยากเรียนพี่น้องประชาชนให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ระบบสหกรณ์ในภาพรวมยังมีความเข้มแข็ง และเท่าที่ตรวจสอบสถานะการเงินและสภาพคล่องของทั้ง 76 สหกรณ์ที่เอาเงินไปฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็ยังมีสภาพคล่องที่สามรถดูแลสมาชิกได้ ส่วนความเชื่อมั่นของสหกรณ์ทั่วไปขอย้ำว่าระบบการหมุนเวียนเงินยังดี ส่วนที่มีข้อเสนอให้สหกรณ์ออมทรัพย์ไปอยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลังก็จะต้องมาพิจารณารายละเอียดกันให้รอบคอบว่าจะทำได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอย่างไร ” นายปีติพงศ์ กล่าว
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสหกรณ์ในระยะยาวซึ่งได้มีนโยบายที่ชัดเจนตั้งแต่ก่อนจะมีคำสั่งศาล ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในการวางระบบการเตือนภัยเพื่อป้องกันความเสียหายให้แก่สหกรณ์อื่นๆ การสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็วที่สุด และที่สำคัญในระยะเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังผลักดัน คือการยกร่างแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 เพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มกระบวนการตรวจสอบ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ สามารถเข้าถึงข้อมูล และมีอำนาจในการตรวจสอบสหกรณ์ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้น รวมถึงการวางระบบเงินสำรองของสหกรณ์ให้สามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของระบบสหกรณ์ และสามารถใช้เงินกองทุนนี้แก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันที ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์ และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อนำเสนอในการแก้ไขกฎหมายต่อสภาฯ และมีผลบังคับใช้โดยเร็ว