สศช.ร่วมจัดอภิปรายกึ่งเสวนา เรื่อง "รัฐธรรมนูญใหม่" หนทางสู่ประชาสังคม"

ข่าวทั่วไป Tuesday December 16, 1997 16:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ธ.ค.--สศช.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะทำงานประชาคมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ร่วมกับผู้แทนข่ายสื่อมวลชนและพลเมืองเพื่อประชาสังคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดให้มีการอภิปรายกึ่งเสวนากับสื่อมวลชน ภายใต้หัวข้อ "รัฐธรรมนูญ : หนทางสู่ประชาสังคม" ณ ห้องประชุมเดชสนิทวงศ์ สศช.
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดอภิปรายดังกล่าวคือ เพื่อให้สื่อมวลชนได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจต่อความหมายอันสำคัญของพลังประชาสังคม และสถานการณ์แวดล้อมปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง และอาจส่งผลกระทบต่องานสร้างสรรค์ประชาสังคม อันจะเป็นแนวทางการพัฒนาที่สำคัญในอนาคตตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 รวมทั้งจะได้มีโอกาสสร้างความเข้าใจ และเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวต่อสาธารณชนต่อไป
ผู้เข้าร่วมการอภิปรายกึ่งเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วยผู้แทนสื่อมวลชนและนักวิชาการกว่า 60 ท่าน โดยมี นายไพโรจน์ สุจินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน สำหรับผู้อภิปรายประกอบด้วย นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายกิตติ สังหาปัด ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และนายอำนวย ปะติเส สมาชิกข่ายสื่อมวลชนและพลเมืองเพื่อประชาสังคมจากจังหวัดมหาสารคาม ทั้งนี้ โดยมี นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
นายไพโรจน์ สุจินดา ได้กล่าวว่า ในช่วงระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 สำนักงานฯ ได้เล็งเห็นว่าพลังสำคัญอันหนึ่งคือ พลังประชาชน ซึ่งจะทำอย่างไรให้พลังนี้เกิดขึ้นได้ จากแนวความคิดนี้ประกอบกับที่ประเทศไทยได้มีการจัดระเบียบการบริหารการปกครองประเทศใหม่ โดยได้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งได้จัดวางกติกาภายใต้มาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างให้กลุ่มพลังงานต่าง ๆ ของประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางโครงสร้างทางด้านการเมือง การปกครอง สังคม และเศรษฐกิจ อันเป็นพลังสำคัญที่จะมาช่วยผลักดันเรื่องประชาสังคมให้เกิดขึ้นได้
รองเลขาธิการ สศช. กล่าวต่อไปว่า สำหรับบทบาท และสิทธิของคนไทยเราจะก่อให้เกิดประชาสังคมได้นั้น เริ่มมีการเคลื่อนไหวบ้างแล้ว เช่น เรื่อง ป่าชุมชน ซึ่งแม้จะยังไม่มีกฏหมายมารองรับ แต่เราจะเห็นว่าประชาชนเริ่มมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาดูแลชุมชนของตัวเอง ในส่วนของสื่อมวลชนซึ่งนับเป็นอีกประชาสังคมหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากต่อการกระตุ้นและผลักดันให้เกิดพลังที่จะร้อยประชาสังคมอื่นออกสู่ความเป็นสาธารณะได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประชาสังคมนี้ให้เกิดความเข้าใจตรงกันก่อน
ทางด้านนายแก้วสรร อติโพธิ ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการเคลื่อนไหวของประชาสังคมเท่านั้น เพราะเพียงแค่รัฐธรรมนูยยังไม่สามารถจะก่อให้เกิดอะไรขึ้นได้ การสร้างหรือการปฏิรูปอะไรก็ตามอยู่ที่คน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นหนทางหรือวิถีทางที่จะนำมาแก้สถานการณ์วิกฤตและพัฒนาชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะใช้เป็นเครื่องมือในการเดินไปสู่เส้นทางที่เรียกว่า "ประชาสังคม" ได้อย่างไร
นายแก้วสรร อติโพธิ ยังได้กล่าวด้วยว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจถึงสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีพึงได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมทั้งมาตราต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น ในเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ในมาตรา 40 ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมาตร 41 ที่บัญญัติให้พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการ หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอและแสดงความคิดเห็น โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานราชการ เป็นต้น
ส่วนนายกิตติ สิงหาปัด ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี กล่าวถึงความเป็นอิสระของโทรทัศน์ว่า ยังมีเนื้อหาเอนเอียงไปในทางบันเทิงเพื่อสร้างความนิยมและเพื่อสร้างผลประโยชน์ในแง่ธุรกิจมากกว่าการเสนอเนื้อหาสาระแก่ประชาชน และคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง โดยการออกพระราชบัญญัติกำหนดสัดส่วนรายการของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องเท่าเทียมกัน และมีการกระจายไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น
นอกจากนี้ นายอำนวย ปะติเส ได้กล่าวในการอภิปรายว่า "คน" ในขณะนี้ไม่มีฐานะเป็นพลเมือง แต่เป็นราษฎรที่ถูกครอบงำโดยระเบียบ กฎหมาย วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษา ซึ่งทำให้คนกลายเป็นคนคิดไม่เป็น ไม่มีความกระตือรือร้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างกระบวนการการศึกษาใหม่ ไม่เช่นนั้นสิ่งต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ รวมทั้งจะต้องปรับกระบวนการเลือกหาคนที่ตื่นตัวมาขับเคลื่อนให้สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นจริง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความสำคัญในการที่จะยกฐานะของราษฎรที่รอรับฟังคนอื่น มาเป็นผู้ที่คิดเป็นและสามารถบอกได้ว่าจะพาคนอื่นไปในทางที่ถูกต้องได้อย่างไร--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ