กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม 2558 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวในฐานะประธานงานแถลงข่าวการจัดงานสงกรานต์...สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า ว่า กระทรวงวัฒนธรรม บูรณาการหน่วยงานในสังกัด ศูนย์การค้าสยามพารากอน สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายด้านวัฒนธรรม จัดกิจกรรมสงกรานต์ ทั่วประเทศ เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานสาระคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ “คุณค่าครอบครัว คุณค่าต่อชุมชน คุณค่าต่อศาสนา” ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของไทยให้ยังคงความงดงามและสืบทอดมรดก ทางวัฒนธรรมของไทย โดยเน้นการจัดกิจกรรมในรูปแบบดั้งเดิม ดังนี้
1.การจัดกิจกรรมสงกรานต์ 7 วัด ได้แก่ 1.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชมหาวิหาร เขตพระนคร 2.วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตพระนคร 3.วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง 4.วัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน 5.วัดสุวรรณรามราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย 6.วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน และ 7.วัดเสมียนนารี เขตจตุจักร เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรมสงกรานต์แบบดั้งเดิม ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าวัดทำบุญ ตักบาตร ขนทรายเข้าวัด เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ และทำความสะอาดวัดและลานวัด ซึ่งเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความบันเทิง สนุกสนาน เช่น การสรงน้ำ พระสารีริกธาตุ ก่อเจดีย์ทราย รำวงย้อนยุค การแสดงลิเก การละเล่นเด็กไทย เป็นต้น ซึ่งกำหนดพิธีเปิดงานสงกรานต์...สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า ในวันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2558 ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร โดยมีคณะทูตานุทูตที่ประจำประเทศไทยเข้าร่วมงาน
2.การสักการะ 9 พระพุทธรูปมงคลโบราณ เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปมงคลโบราณ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และคลังกลางจังหวัดปทุมธานี มาประดิษฐานยัง Hall of Fame ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 10-15 เมษายน 2558 จำนวน 9 องค์ ได้แก่ 1) พระพุทธรูปประทานพร มีความหมายถึง การให้พรตามคำอธิษฐานขอผู้สักการะ 2) พระไภษัชยคุรุ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้ช่วยสัตว์โลกทั้งปวงพ้นทุกข์อันเกิดโรคทางกาย และโรคทางใจ ตลอดจนช่วยให้ชีวิตยืนยาว 3) พระหายโศก เป็นพระพุทธรูปที่นำมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ เนื่องด้วยมีพระนามอันเป็นศุกมงคล 4) พระพุทธรูปประทับรอย พระพุทธบาท หมายถึง การบูชาพระพุทธเจ้า 4 องค์ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และโคตมพุทธเจ้า 5) พระพุทธรูปห้ามสมุทร หมายถึง การป้องกันภัยอันตราย การปราศจากจากความหวาดกลัว 6) พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ หมายถึง การปกป้องอันตราย 7) พระล้อม (พระห้าร้อย) นิยมบูชาเพื่อโชคลาภ ทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ 8) พระพุทธรูปขอฝน (พระคันธารราษฎร์) อำนวยความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินอุดม พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ และ9) พระชัยเมืองนครราชสีมา หมายถึง ความมีชัยชนะเหนือศัตรู ขจัดอุปสรรค อำนวยให้พิธีกรรมสำเร็จผล นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และการแสดงร่วมสมัย อาทิ การแสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทย จากกรมศิลปากรและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงพื้นบ้าน จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ที่สำคัญกระทรวงวัฒนธรรมได้ส่งความรักและความปรารถนาดีไปยังประชาชนชาวไทยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านการอ่านสารนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันสงกรานต์และอวยพรเนื่องในวันสงกรานต์ ทั่วประเทศ โดยจะออกอากาศในวันที่ 13 เมษายนที่จะถึงนี้
ด้านศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมสงกรานต์ย้อนยุค ในวันที่ 13 เมษายน 2558 ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.50 – 13.00 น. โดยมีพิธีสรงน้ำต้นพระศรีมหาโพธิ์ (หน่อเดียวกับพุทธคยา) พิธีสรงน้ำหลวงพ่อเสริม (องค์จำลอง) และพระเถระผู้ใหญ่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พิธีรดน้ำดำหัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคณะทูตานุทูตที่มาร่วมงาน การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม อาทิ การละเล่นไทย และการสาธิตหัตกรรม อาทิ การกวนกาละแม ซึ่งจะขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกท่านแต่งกายเข้าวัดทำบุญด้วยความสุภาพเรียบร้อย
นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน จัดงาน “Water Festival 2015 เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2558 ตั้งแต่เวลา 09.00-24.00 น. โดยจัดใน 7 พื้นที่ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ท่ามหาราช ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค และเอเชียทีค เดอะรีเวอร์ฟร้อนท์ เพื่อสานต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทย และวิถีการท่องเที่ยวทางน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม ที่น่าสนใจ อาทิ กิจกรรมลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปไหว้พระ 4 วัด รับ 9 สิริมงคล ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร สัมผัสกลิ่นอายของวิถีชีวิตชุมชน ณ ท่ามหาราช แหล่งรวมวัตถุบูชาที่ใหญ่และเก่าแก่ ณ ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค ที่สำคัญไฮไลท์ของการจัดกิจกรรมคือที่ เอเชียทีค ซึ่งจัดบรรยากาศแบบย้อนยุค โดยจะมีเรือด่วนเจ้าพระยารับส่งฟรีทุกวัน
ด้านนางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กิจกรรมสงกรานต์ ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดำเนินการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงาม สืบทอดประเพณี ส่งเสริมค่านิยมและความเป็นไทยที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ อาทิ การจัด Road show เผยแพร่สงกรานต์ ในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ณ ทำเนียบรัฐบาล งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ในวันที่ 9 เมษายน 2558 เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดโครงการการสืบสานประเพณีสงกรานต์เมืองหน้าด่านวัฒนธรรม และการจัดทำ E-Card หรือบัตรอวยพรสงกรานต์ 5 แบบ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสื่อสำหรับรณรงค์เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณค่าสาระประเพณีสงกรานต์ของไทย เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนต่อไป
ด้านนางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในฐานะ World Class Shopping Destination รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมวันสงกรานต์ “สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั้งหล้า” ระหว่างวันที่ 10 - 15 เมษายน 2558 เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลอันเป็นมหามงคลในปีนี้ ซึ่งงานนี้นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยสืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และแสดงให้เห็นถึงประเพณีอันดีงามสู่ชาวไทย และชาวต่างชาติแล้วยังนับเป็นมหาสิริมงคลยิ่งที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปมงคลโบราณ อันทรงคุณค่า นำมาประดิษฐานที่ ฮอลล์ ออฟ เฟม ชั้น M สยามพารากอนเป็นครั้งแรก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สักการะบูชาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพร้อมกันถึง 9 องค์ ในคราวเดียวกัน
พร้อมกันนี้ที่บริเวณพาร์ค พารากอน ยังใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ประเพณีสงกรานต์ อาทิ นิทรรศการชุดรดน้ำสงกรานต์ 4 ภาค, การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ฯลฯ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับลูกค้าและประชาชนเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยความเป็นมหาสิริมงคลอย่างสูงยิ่ง”
กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรมในงานสงกรานต์...สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และ www.m-culture.go.th