กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กุมภาพันธ์ 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 816,083 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 12,217 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) โดยกรมสรรพากรและกรมศุลกากรจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 35,512 และ 1,678 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 และ 3.3 ขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 12,813 4,972 และ 4,598 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.2 2.8 และ 6.2 ตามลำดับ สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 16,981 14,770 และ 8,835 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 4.8 และ 20.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษียาสูบและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าเป้าหมาย 12,812 4,026 และ 2,018 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.9 15.7 และ 1.7 ตามลำดับ”
นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรก ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การลดลงของราคาน้ำมันจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศ โดยพิจารณาจากรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้เร่งรัดให้หน่วยงานจัดเก็บเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากขึ้น โดยในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น”
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กุมภาพันธ์ 2558)
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 149,834 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 14,359 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.5) ส่งผลให้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กุมภาพันธ์ 2558) รายได้รัฐบาลสุทธิมีจำนวน 816,083 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,217 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9)
1. เดือนกุมภาพันธ์ 2558
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 149,834 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 14,359 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.5) ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 9,285 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.5 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 2.7) โดยมีสาเหตุสำคัญจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่ำกว่าประมาณการ 3,973 และ 3,307 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.3 และ 33.8 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,956 ล้านบาท หรือร้อยละ 91.4 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล และภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 1,038 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.2
2. ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กุมภาพันธ์ 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 816,083 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,217 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) ทั้งนี้ กรมสรรพากรและกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 35,512 และ 1,678 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 และ 3.3 ขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 12,813 4,972 และ 4,598 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.2 2.8 และ 6.2 ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 587,168 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 35,512 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.0) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 16,981 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2(ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.3) เนื่องจากภาษีที่เก็บจากค่าบริการและการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) ภาษีจากกำไรสุทธิรอบครึ่งบัญชีของบริษัทญี่ปุ่น (ภ.ง.ด. 51) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 14,770 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.0) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บสูงกว่าเป้าหมาย 1,677 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.4) ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 16,447 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.0) เนื่องจากมูลค่านำเข้าที่ยังหดตัว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,475 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 35.4) เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สะท้อนผลประกอบการที่ปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,018 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.3) เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชนจากดอกเบี้ย และเงินเดือนจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 180,139 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,972 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.6) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่
ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 12,812 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.9 (สูงกว่า
ช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 53.6) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
ภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,026 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.5) เนื่องจากปริมาณยาสูบที่ชำระภาษีขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้
อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 8,835 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.2) สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว และภาษีเบียร์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,942 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.7 (ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีสำหรับผู้ส่งออกเบียร์ จากเดิมที่ให้ผู้ส่งออกเบียร์ชำระภาษีไว้ก่อนแล้วจึงขอคืนภาษีในภายหลัง เป็นการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน ส่งผลให้ปริมาณเบียร์ที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 49,222 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,678 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.4) เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 หดตัวร้อยละ 7.6 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 59,859 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,813 ล้านบาท
หรือร้อยละ 27.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.2) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่สูงกว่าประมาณการ
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 78,523 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,598 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 23.2) สาเหตุสำคัญมาจากการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการ 5,562 ล้านบาท
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 3,311 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 54 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.1) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ที่ราชพัสดุต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 106,933 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 559 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 93,760 ล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการ และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 13,173 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 619 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5
2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 4,578 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 578 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.5
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 6,021 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,237 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.0
2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 5,603 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 955 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.6
2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 2 งวด เป็นเงิน 15,693 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 417 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6